ผู้เยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

มือใหม่ซื้อเครื่องเสียง


“มือใหม่ซื้อเครื่องเสียง”

 วันนี้ผมอยากมาแนะแนวทางใน ” การเลือกซื้อเครื่องเสียง ” ให้เพื่อนที่เริ่มจะหัดเล่น ได้ลองพิจารณาดู จะได้จ่ายเงินซื้อเครื่องเสียงให้คุ้มค่ากับที่เงินอุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมา


ผมมีเงินอยู่…..บาท

ซื้อเครื่องไหน “ดีที่สุด” ครับ ?


เป็น คำถามยอดฮิตสำหรับมือใหม่ เป็นคำถามที่มือเก่าไม่ค่อยอยากตอบ ถึงพยายามจะตอบคำตอบก็ไม่ใช่อย่างที่ผู้ถามต้องการ จะบอกว่ามันคล้ายกับถามว่ารถอะไรดีที่สุดในราคา 1ล้านบาท ถามเซียนรถสิบคน อาจได้คำตอบไม่เหมือนกันเลย เพราะมีหลายประเด็นที่ต้องคิดใช้ในการหาคำตอบ รูปลักษณ์ ความเร็ว ประโยชน์ใช้สอย ความประหยัด การซ่อมบำรุง ราคาขายต่อ ความโออ่า ความปลอดภัย หรือความภูมิฐาน

เรื่อง เครื่องเสียงซับซ้อนกว่านั้นมาก เสียงไม่สามารถจับต้องหรือมองเห็นได้ สัมผัสเดียวที่ใช้คือหูของเราที่แปลงสัญญาณเสียงเป็นความรู้สึกชอบหรือไม่ ชอบคนสองคนนั่งฟังเพลงด้วยกัน คนหนึ่งอาจคิดว่าเสียงดีเหลือหลาย

อีกคนอาจจะคิดในใจว่าไม่เอาไหนอย่าง นี้ก็ไม่แปลก ต่างคนต่างมีประสบการณ์และรสนิยมที่แตกต่างกัน ดังนั้นคำตอบของคำถามนี้เราจะต้องหาคำตอบเอง ว่าอะไรดีที่สุดสำหรับงบประมาณ รสนิยมความชอบ ห้อง และการใช้งานของเรา เพราะอย่างนี้แหละจึงมีเครื่องเสียงหลากหลายยี่ห้อ นั่งไล่ชื่อกันทั้งวันไม่หมด


เครื่องเสียง “ดี” เป็นอย่างไร


บางคนคิดว่าเครื่องที่ดีจะต้องเป็นเครื่องให้เสียงเที่ยงตรงที่สุด ความเพี้ยนต่ำที่สุด เหมือนอุปกรณ์ในห้องแล๊ป ความจริงนั้นถูกแค่ส่วนเดียว จริงครับ ตัวที่ผลการวัดได้เที่ยงตรงกว่ามีโอกาสที่จะได้รับคำวิจารณ์ไปในทางที่ดี มากกว่า แต่บางตัวผลการวัดแย่มาก แต่ได้รับคำชมทั่วโลกมีถมไป อย่างพวกหลอดหรือลำโพงบางคู่

ดังนั้นหากจะซื้อแล้วดูแต่สเปคเครื่องเป็นหลักในการเลือกซื้อ แบบนี้เรียกว่าหลงทาง แต่จะไม่ดูสเปคเลย ก็ไปไม่รอดเหมือนกันครับ

อย่าง เรื่องกำลังขับ ความไวของลำโพง ความต้านทานเข้าขา-ออกของอุปกรณ์ พวกนี้ควรจะเรียนรู้เอาไว้บ้าง เป็นแนวทางเลือกให้อุปกรณ์ให้ทำงานได้ดีตามที่มันออกแบบมา

เครื่องเสียงทุกชิ้น มีบุคลิกการนำเสนอเสียงของตัวเอง มากน้อยก็ขึ้นกับคุณภาพ อยากรู้ว่าตัวไหนให้เสียงดีอย่างที่เราชอบ ต้องหาประสบการณ์ไปการฟัง ประสบการณ์จากการได้เล่นได้ลอง จะหล่อหลอมจนเป็นความชอบส่วนตัว

ความชอบที่ว่าเสียงดีนี้ ไม่ใช่สิ่งตายตัว เมื่อประสบการณ์มากขึ้น อายุมากขึ้น ความชอบก็อาจเปลี่ยนไปได้ ความจริงแนวเสียงหลักๆ ที่เค้าว่าดี มีอยู่ไม่กี่แบบ ที่เซียนทั้งหลายชอบพูดถึงและมือใหม่ควรหาประสบการณ์ อย่างเช่นเสียงแบบ Accuphase แบบ Mark แบบ Krell หรืออย่างลำโพงก็ ProAc, Totem พวกนี้ควรไปฟังเอาประสบการณ์ เพื่อหาเสียงดีในแบบฉบับของตัวเอง

ตัวที่ดังๆ ทุกตัวจะมีดีในตัวที่เราควรศึกษา แต่ใช่ว่าเราจะเป็นชอบเสมอไป อย่างเช่น Accuphase คนชอบทั่วบ้านทั่วเมือง พอได้ฟังผมยอมรับว่า เสียงละเมียดเหลือเกิน แต่ชอบอย่าง Mark มากกว่า เป็นต้น

เครื่องเสียงที่ดีคือ พวกที่เจือบุคลิกที่เป็นเสน่ห์ของตัวเองอย่างพอเหมาะพอดี เป็นธรรมชาติ พร้อมรักษาความเป็นกลางในการถ่ายทอดเสียงที่บันทึกออกมาอย่างได้อารมณ์เพลง ได้จังหวะลีลาที่ถูกต้อง ประเภทแบบร้อยเพลงหนึ่งลีลานี้ไม่ไหวครับ

ฟังเพลงจังหวะสนุก ก็ต้องสนุก เพลงหวานซึ้งก็ควรได้อารมณ์ตามนั้น ซึ่งความสามารถอันนี้แหละครับที่แยกเครื่องที่คุ้มค่าเงินออกจากเครื่อง ธรรมดาในระดับราคาที่มันขายอยู่ ฟังดูอาจจะดูน่าสับสน แต่เมื่อไรมีประสบการณ์มากขึ้น จะเข้าใจครับ

ระหว่าง บุคลิกกับความเป็นกลางในการถ่ายทอดอารมณ์เพลง หากจะเปรียบให้เห็นง่าย ก็เหมือนหาแม่บ้านบุคลิกหน้าตาดี ถูกใจเรา แล้วงานบ้านงานเรือนไม่บกพร่อง ได้ทุกอย่าง นั้นสุดยอดศรีภรรยาอะไรทำนองนี้


จ่ายเท่าไรดี ?

เหมือนเรื่องอื่นในชีวิตประจำวันครับ จ่ายมากได้มาก จ่ายน้อยได้น้อย

ประเภท เสียงดีกว่าอีกตัวที่ราคา 2 -3 เท่าตัว เอาไว้เทียบตัวที่คุ้มค่าของระดับ ไปเทียบตัวที่แย่ๆ แพงๆบางตัว แต่หากนั่งจบ ตัวที่คุ้มค่าในระดับของมันมาเทียบกัน ก็ตามนั้น ” จ่ายมากได้มากจ่ายน้อยได้น้อย ”

ดังนั้น นักเล่นต้องกำหนดงบประมาณคราวๆที่ต้องการจะจ่ายไว้ในใจก่อน ที่คิดว่าพอดีกับฐานะ เครื่องเสียงไม่ใช่ปัจจัยสี่ ไม่มีมันก็ไม่ตาย เบียดบังค่าเทอมลูกหรือกู้ยืมจนเดือนร้อน อย่างนี้ไม่ดีแน่ เครื่องเสียงนี้มันสร้างมาเพื่อความสุข แต่มีมันแล้วทุกข์ อย่ามีดีกว่าครับ

สูตร ในการแบ่งสัดส่วนงบประมาณนั้น ไม่มีอะไรแน่นอน ขึ้นกับประสบการณ์ของนักเล่น บางสูตรให้ความสำคัญตัวหนึ่งมาก ตัวหนึ่งน้อย แต่มือใหม่ผมแนะนำ 30 เปอร์เซ็นต์สำหรับต้นสัญญาณ 30เปอร์เซ็นต์สำหรับภายขยาย 30เปอร์เซ็นต์สำหรับลำโพง และอีก 10 เปอร์เซ็นต์สำหรับพวกสายต่าง ที่แบ่งแบบนี้เพราะเป็นสัดส่วนไม่หลงทางได้ง่าย และไม่ขัดความรู้สึกของคนซื้อนัก

เมื่อประสบการณ์แก่กล้า ซื้อสายราคาเท่าแอมป์อย่างนี้ก็ไม่แปลกครับ แต่ชุดแบบหัดเดินเล่นสายราคาเท่าแอมป์นี้เรียกว่าหลงทางครับ

เชื่อหูตัวเอง

หรือเชื่อนักหูทดสอบดี ?


เครื่องเสียงในตลาดมีมากครับ จะให้เชื่อหูตัวเองอย่างเดียว โดยออกไปตระเวนหาฟังตัวที่ชอบ คงไม่ไหวครับ

ใน ตลาดเครื่องเสียงมีเป็นร้อย แถมไปเจอชุดที่ไม่คุ้นเคย จับประเด็นได้ไม่ค่อยละเอียดนัก ด้วยสาเหตุนี้ ฟังๆเซียนนักทดสอบที่เกิดขึ้นทั่วบ้านทั่วเมืองนี่ ไว้บ้างก็ดีครับ คือท่านได้ทดสอบอย่างเอาเป็นเอาตาย กลั่นกรองแล้วว่าตัวไหนที่เข้าตาท่านบ้าง ก็เลือกๆดูก็แล้วกันครับว่า จะเชื่อถือท่านใด ก็มีบ้างครับที่ตัวดีๆ จะหลงหูหลงตา แต่แค่ไปลองดูเฉพาะที่ท่านทดสอบนี้ก็ตระเวนไม่ไหวแล้ว หากท่านว่าตัวนี้ขับยาก ตัวนี้เหมาะกับหลอด ก็ควรฟังๆเอาไว้บ้าง

สมัยนี้ เป็นสมัยโลกอินเตอร์เน็ต ทำให้เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกันสินค้าตัวนั้นๆได้อย่างกว้างขวาง ควรค้นหาดูว่าคนอื่นๆทั่วโลกเค้าพูดถึงตัวนี้ไว้ว่าอย่างไรบ้าง ประเภทมีนักวิจารณ์ในแง่ดีหลายสำนัก ก็ย่อมแสดงว่ามีดีแน่ครับ เว๊บที่แนะนำให้เข้าไปค้นหาดูครับ

www.ecoustics.com

เค้ารวบรวมบทความที่ทดสอบเครื่องเสียงทั่วโลกไว้เยอะมาก

อีกเว็บหนึ่งก็นี้ครับ AudioREVIEW.com เป็นคำวิจารณ์จากคนที่เคยใช้ หากมีคนใช้เข้ามาวิจารณ์มากๆ แถมออกมาในแง่ดี อย่างนี้ตัวนี้คงมีดีอะไรแน่ครับ

สำคัญ ที่สุดอ่านแล้วคิดว่าตัวไหนน่าจะใช่ ก็ต้องออกไปลองฟังครับ ชอบตัวไหน ค่อยซื้อ แต่ซื้อเพราะท่านว่าดีโดยไม่เคยฟัง หรือไม่ชอบเท่าไรแต่ท่านว่าดี เสียใจมาหลายแล้วครับ ผมเองก็หลายทีแล้ว เลยอยากจะเตือนไว้ครับ




แล้วเราจะเริ่มตัวไหนดี ?

ควร เริ่มที่ลำโพงครับ แนวเสียงหลักๆ ทุ้ม กลาง แหลมจากชุดเครื่องเสียง ออกมาจากลำโพงนี้เอง หากปักอกปักใจว่าจะเล่นหลอดประเภท 1-5 วัตต์ก็ต้องมองที่ลำโพงที่ขับง่ายๆความไวสูงๆไว้เป็นหลัก ควรเลือกที่เหมาะกับที่ทางของเรา ห้องเล็กขนาด 3 คูณ 4 ก็ควรเล่นวางหิ้งห้องใหญ่ ขนาด 4 คูณ 6 ก็มีโอกาสเลือกได้กว้างกว่า จะวางหิ้งหรือตั้งพื้นก็ได้


หาก ไปลองที่ร้าน ควรไปฟังในร้านที่มีการจัดสภาพห้องไว้ดีพอสมควร เอาแผ่นที่ชอบไปด้วย ขอลองเปลี่ยนลำโพงและแอมป์ดู เพื่อเปรียบเทียบหาลักษณะเสียงของตัวที่กำลังสนใจ ที่สำคัญให้ฟังนานๆครับ หากฟังแล้วรู้สึกดีกับมัน แสดงว่ามันน่าจะใช่ ระวังประเภทสะดุดหูเฉพาะครั้งแรกแต่ฟังนานๆแล้วล้าหู ซื้อมาแล้วจะเสียใจ

สเปค ที่ควรศึกษาในการซื้อก็พวกความไว เผื่อต้องมองหาขนาดกำลังขับที่เหมาะสม ชนิดขั้วต่อเป็นแบบไหน ไบวายได้หรือไม่ เพื่อความสะดวกภายหลัง วัสดุที่ทำขอบกรวยลำโพง ถ้าเป็นยางก็จะทนกว่าพวกโฟม แต่อย่าจริงจังมาก ผมไม่เคยเห็นมือใหม่ซื้อลำโพงมาใช้จนขอบเปื่อยสักที เปลี่ยนตัวใหม่ไปก่อนแล้ว

สเปคอื่นๆก็ไม่ต้องสนใจมากครับ อย่างวัสดุทำกรวยดอกลำโพง ถึงจะทำจากวัสดุทำยานอวกาศ แต่เสียงเราไม่ชอบก็ป่วยการ

ได้ ลำโพงมาแล้วก็มาดูที่แอมป์ครับ มือใหม่ควรเริ่มที่อินทิเกรตแอมป์ เพราะคุ้มค่ากว่าเมื่อเทียบกับราคาที่จ่ายไป จะเป็นทรานซิสเตอร์หรือหลอดก็แล้วแต่ชอบ ไม่มีอะไรดีกว่าอะไร ไม่งั้นไม่อยู่คู่วงการมาจนปานนี้

ซื้อกำลังขับแค่ไหนดี?
ขึ้นกับหลายเรื่อง ความไวของลำโพง อคูสติกของห้อง ระยะที่นั่งห่างจากลำโพง แนวเพลงที่ฟังประจำ คนฟังชอบเปิดดังค่อยขนาดไหน ดังนั้นจะให้บอกกันชัดๆว่าเท่านั้นเท่านี้ลำบาก จะให้ดีลองกับลำโพงที่เราเลือกแล้วว่าขับไหวหรือเปล่า หากซื้ออยู่ร้านเดียวกันโอกาสเสี่ยงยิ่งมีน้อย หากไม่มีโอกาสจริง คร่าวๆ ดูความไวของลำโพงตัวที่ชอบเป็นหลัก หากอยู่ที่ประมาณ 87-89 แบบนี้ถือว่าความไวปานกลาง ห้องไม่ใหญ่นัก อินทิเกรตแอมป์สัก 30 วัตต์เหลือเฟือ

หาก ความ ไวสูงกว่านี้ พวก 90 ขึ้นไป ขับง่ายกว่า มาก 10-20 วัตต์ขับสบาย หากความไวต่ำกว่า 87 ก็ต้องการกำลังมากขึ้นไปกว่านี้มากกว่า 50 วัตต์ขึ้นไป แอมป์ใช้มันเกินกำลัง จะได้เสียงที่ไม่ดีควบคุมย่านเสียงทุ้มได้ไม่ดี มิติไม่นิ่ง หากเค้นมันอีก เสียงกลางจะเริ่มแจ๋นออกมา เสียงแหลมจะแตกพร่า ถึงตอนนั้นอันตรายครับ ทวีตเตอร์อาจไหม้ได้

แนวเสียงของแอมป์ฟังได้ยากกว่าลำโพงอยู่บ้าง เพราะคุณภาพของมันจะออกไปในเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ เช่นพวกความนิ่ง สะอาด และช่องว่างของชิ้นดนตรีอะไรประมาณนี้

ได้ สองชิ้นแล้ว ต้องหา source บ้าง มือใหม่คงไม่พ้นซีดี จะว่าเลือกง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก ซีดีนี้ผมว่าน่าจะเป็นชิ้นสุดท้ายในการตัดสินใจเลือกซื้อ เพราะในเชิงเทคนิคไม่ค่อยมีปัญหาในการเข้ากันได้กับอุปกรณ์ตัวอื่น ใช้ในการจูนเสียงโดยรวมให้ตรงความต้องการอีกที อย่าให้เทคโนโลยีหรือสเปคที่สวยหรูมาหลอกเราได้ เพราะหูของเรานี้เแหละจะเป็นสิ่งที่บอกครับว่า เทคโนโลยีหรือสเปคสวยหรูของมัน ได้รับใช้เราจริงหรือเปล่า

ต่อไปก็เป็นพวกสายสัญญาณ สายลำโพง ขาตั้งลำโพง พวกนี้มีผลกับเสียงแน่ มากน้อยแล้วแต่มุมมอง

อยาก จะเตือนมือใหม่ที่อ่านวิจารณ์พวกนี้เข้า อย่าคิดไปว่าของพวกนี้สามารถเปลี่ยนเสียงจากเสียงแห้งกลายเป็นหวานไปเลย หรือจะไม่มีทุ้มกลายเป็นทุ้มมหากาฬ อย่าหวังอะไรขนาดนั้น ผลของมันในลักษณะที่ปรับปรุงบุคลิกเสียงได้บ้าง เติมส่วนที่ขาดๆเกินๆ ให้ไปในแนวทางที่เราต้องการ และมันต้องมาจากชุดที่มีพื้นฐานพร้อมมาก่อน และต้องลงตัวระดับหนึ่งแล้ว

ผล ของสายต่างๆจึงจะแสดงประสิทธิภาพเต็มที่ สายดีมากๆ แต่ชุดยังไม่ลงตัว เหมือนเอายางรถสปอร์ตไปใส่รถขนผักละครับ ใส่ไปก็บ่นว่าไม่มีผล ต่อว่าของเค้าไม่ดี หลอกลวงไปโน้น

หลัก การในการเลือกแต่ละชิ้นในชุด ควรเลือกให้แต่ละชิ้นแนวเสียงคล้อยไปในแนวทางเดียวกัน เสริมจุดเด่นลดจุดด้อยนิดๆหน่อยๆให้กันและกัน ไม่ควรจัดชุดที่มีลักษณะหักล้างกัน เช่นลำโพงเด่นแหลมเป็นหลักไม่มีทุ้ม เลือกแอมป์ทุ้มมหากาฬ หวังว่ารวมกันแล้วจะดี อย่างนี้จ่ายอีกหลายรอบแน่ครับ

ปัจฉิมลิขิต

ทุกคนจะมีแนวทางการเล่นของตัวเอง แต่นักเล่นเครื่องเสียงที่ดีมีจุดหมายเดียวกัน คือดื่มด่ำความสุขที่ได้จากการฟังเพลง

เมื่อ ได้ชุดเครื่องมาแล้ว ขอให้หาความสุขจากมันและเรียนรู้หาประสบการณ์การฟังจากมันให้คุ้มเงินที่ จ่ายไป พยายามค้นหาคุณภาพที่แท้จริงของมันออกมาโดยไม่ต้องจ่ายหรือจ่ายน้อยที่สุด

ในความเห็นผม เสน่ห์การเล่นเครื่องเสียงอยู่ตรงนี้ ประเภทซื้อมาวันแรกอยู่อย่างไรสามปีอยู่อย่างนั้น แบบนี้มินิคอมโปคุ้มกว่า และเมื่อถึงคราวจะเปลี่ยนเครื่อง ขอให้มีเหตุผลหนักแน่นชัดเจนว่าเปลี่ยนทำไม รู้จักเครื่องที่ต้องการจะเปลี่ยนออกอย่างหมดไส้หมดพุง รู้ว่าจะได้อะไรเสียอะไรจากการที่จะจ่ายเงินครั้งนี้ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นนักเล่นเครื่องเสียงประเภทที่เปลี่ยนเครื่องบ่อยๆ อย่างไร้จุดหมาย เหมือนพายเรือในอ่าง

เสียเงินเสียทองไปมากมายก่ายกอง เพื่อตามหาสิ่งซึ่งตัวเองก็ไม่รู้ว่าหาอะไรอยู่

ขอฝากเป็นข้อคิดแนวทางเลือกเครื่องเสียง เพื่อการฟังอย่างมีความสุข พอดี พอเพียง พอใจครับ..

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น