ผู้เยี่ยมชม

วันเสาร์ที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2552

ว่ากันเรื่อง Amplifier (เครื่องขยายเสียง)



เมื่อกล่าวถึง เครื่องเสียงแล้ว ส่วนสำคัญที่มีผลต่อเสียงค่อนข้างมาก และมักมีการพูดถึงองค์ประกอบที่สำคัญตัวนี้
ซึ่งก็คือ "แอมป์" ที่หลายคนเรียกกันติดปาก ซึ่งย่อมาจาก Amplifier (แอมปลิไฟเออร์)

Amplifier คือ องค์ประกอบของเครื่องเสียง ที่ทำหน้าขยายสัญญาณเสียง ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีกำลังขึ้น ต่อมาจากเครื่องเล่น DVD CD MP3 (Player)หรือ คือ PRE-Amp

เพาเวอร์แอมป์ หรือพูดกันอย่างตรงตัวก็คือ "เครื่องขยายเสียง" นั่นเองหน้าที่หลังของมันจะรับสัญญาณที่มีปริมาณเหมาะสม จากปรีแอมป์แล้วทำการขยายให้ใหญ่ขึ้นอีกก่อนส่งต่อไปยังลำโพงให้เปล่งเสียงออกมา เพาเวอร์แอมป์ที่ดี จะต้องมีคุณสมบัติสำคัญยิ่งก็คือ สามารถถ่ายทอดและขยายสัญญาณได้อย่างเที่ยงตรงถูกต้อง หรือมีความเพี้ยนต่ำที่สุด

เพาเวอร์แอมป์ในอุดมคตินั้น เมื่อมีสัญญาณใด ๆ เข้ามา จะต้องทำการขยายสัญญาณให้ออกไปทางเอ๊าท์พุท ให้เหมือนเดิมทุกประการ แต่ก็อย่างว่าแหละ เรื่องความเพี้ยนเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงยาก เพียงแต่ว่ามันจะเกิดขึ้นมากหรือน้อยเท่านั้นเองแอมปลิไฟร์ที่แพง ๆ จึงเป็นแอมป์ที่มีความเที่ยงตรงสูงในการขยายสัญญาณ

เพาเวอร์แอมป์ เมื่อแบ่งออกตามลักษณะอุปกรณ์ที่ใช้ในการขยายเสียงแล้ว จะเห็นได้ชัดว่าจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ

1. เพาเวอร์แอมป์แบบทรานซิสเตอร์ (Transistor Amplifiers)


2. เพาเวอร์แอมป์แบบหลอดสูญญากาศ (Vacuum Tube Amplifiers)

ซึ่งทั้งนี้คุณสามารถสังเกตได้จากลักษณะอุปกรณ์ภายในเครื่องได้ว่า มีลักษณะเป็นหลอดสูญญากาศหรือแบบทรานซิสเตอร์ เพราะว่าข้อแตกต่างจากกันอย่างชัดเจน ตามลักษณะของอุปกรณ์ อย่างไรก็ตาม เพาเวอร์แอมป์นั้นยังแบ่งออกไปได้ตามลักษณะของการจัดวงจรขยาย และลักษณะในการถ่ายทอดสัญญาณได้อีก เช่น ถ้าแบ่งกันตามลักษณะในการจัดวงจรไบอัสในการขยายเสียง ก็จะมีการแบ่งออกเป็นคลาสต่าง ๆ เช่น คลาส A, คลาส B, คลาส AB, คลาส C, คลาส D, คลาส H ฯลฯ ซึ่งก็แล้วแต่ว่าผู้ออกแบบจะทำการเลือกสรรวิธีการไบอัสกระแสของวงจรขยายแบบไหนที่คิดว่าเหมาะสมที่สุด

ในปัจจุบัน แอมป์คลาส AB ได้รับความนิยมมากที่สุด

นอกจากนี้ ถ้าแบ่งประเภทตามวิธีออกแบบในการถ่ายทอดสัญญาณในภาคขยายสุดท้าย ก็จะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ คือ ภาคขยายแบบ OTL (OUT PUT TRNAS FOMER LESS) ภาคขยายชนิด OCL (OUT PUT CONDENSER LESS) เป็นหลัก ส่วนวิธีการในแบบวงจรอื่น ๆ ดูจะไม่เป็นที่นิยมกันเช่นแบบ OPT ของหลอดสูญญากาศ

เพาเวอร์แอมป์ชนิดที่ออกแบบอุปกรณ์โดยใช้หลอดสูญญากาศล้วน ๆ นั้น ในปัจจุบันเป็นที่นิยมน้อยกว่าแอมปลิไฟร์ภาคขยายชนิดทรานซิสเตอร์ เนื่องจากหลอดสูญญากาศจะมีขนาดที่ใหญ่เทอะทะ มีน้ำหนักมากใช้ไฟในการเลี้ยงวงจรสูงกว่าทรานซิสเตอร์ และมีความร้อนสะสมภายในตัวเครื่องสูงด้วย แต่ก็ยังมีผู้คนนิยมคุณภาพเสียงที่ได้จากแอมป์หลอด ทั้งนี้อาจจะเนื่องจากบุคลิกเสียงของหลอดสูญญากาศมีความนุ่มนวลเสียงกลางดีเลิศ มีความละมุนละไม ถูกหูผู้ฟังมาก

และอีกประการหนึ่ง ในแง่ของเทคนิคสำคัญก็คือ หลอดสูญญากาศจะใช้ไฟเลี้ยงวงจรที่สูงมาก สูงกว่าวงจรทรานซิเตอร์ จึงสามารถสะวิงสัญญาณเอ๊าท์พุทให้สูง หรือมีพลังสำรองที่ดี อีกทั้งเพาเวอร์แอมป์ชนิดหลอดสูญญากาศนั้น เมื่อคุณได้ใช้กำลังขับจากมันอย่างเต็มที่ จนถึงอากาศคลิปปิ้ง (CLIPPING) เสียงที่ขับเกินกำลังของแอมป์หลอด จะไม่พร่าเพี้ยนปรากฎชัดเจนเหมือนแอมป์ทรานซิสเตอร์

ด้วยเหตุผลข้างต้น อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เพาเวอร์แอมป์หลอด ยังได้รับความนิยมจากออดิโอไฟล์กลุ่มหนึ่งอย่างเหนียวแน่น แม้ว่าแอมป์หลอดจะมีข้อเสียบางประการอยู่ เช่น มีค่าความต้านทานทางเอ๊าท์พุทที่สูงไม่สามารถนำไปขับลำโพงที่มีความต้านทานต่ำ ๆ ได้โดยตรง แอมป์หลอดทุกเครื่องจึงต้องมีหม้อแปลง หรือ OUT PUT TRANSFORMER (OPT) สำหรับปรับค่าความต้านทานของหลอดสูญกาศให้เหมาะสมกับค่าความต้านทานของลำโพง เอ๊าท์พุททรานสฟอร์เมอร์ที่ว่านี้ จะต้องมีคุณภาพที่ดีเลิศจริง ๆ ไม่เช่นนั้น มันจะกลายเป็นตัวการทำลายคุณภาพเสียงของแอมป์หลอดไปเสียเอง อีกทั้งต้องไม่ลืมว่าหลอดสูญญากาศจะมีความร้อนสะสมในตัวสูงอยู่แล้ว การจัดตำแหน่งแห่งที่ทรานสฟอร์เมอร์ จึงค่อนข้างยุ่งยากว่าจะวางตำแหน่งใดดีจึงจะเหมาะสม ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นนั้นเอง ได้ทำให้แอมป์หลอดสูญญากาศมีขนาดใหญ่โตเทอะทะทั้ง ๆ ที่มีกำลังขับนิดเดียว

เพาเวอร์แอมป์ชนิดทรานซิสเตอร์ ซึ่งก็จะมีการออกแบบวงจรที่หลากหลายกันออกไป อุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำก็มีอยู่หลายแบบให้เลือกใช้ อุปกรณ์จำพวกนี้ได้แก่ทรานซิสเตอร์, ไอซี, มอสเฟท(MOSFET) เป็นต้น ตามปกติในเวลานี้ ทรานซิสเตอร์ชนิดไบโพล่าดูจะได้รับความนิยมค่อนข้างสูง ในบรรดาผู้ออกแบบวงจรเพาเวอร์แอมป์ชนิดทรานซิสเตอร์

ข้อดีของอุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำนี้มีอยู่มากเช่นกัน โดยเฉพาะในแง่ของน้ำหนักขนาดที่เล็กและมีน้ำหนักเบากว่า มีความร้อนสะสมในอัตราที่น้อยกว่าแอมป์ชนิดหลอดสูญญากาศมาก อีกทั้งยังใช้ไฟในการเลี้ยงวงจรที่ต่ำกว่า ที่น่าแปลกมากก็คือหากใช้เครื่องมือจับวัดสัญญาณแล้ว เพาเวอร์แอมป์ ชนิดทรานซิสเตอร์จะมีค่าความเพี้ยนที่ต่ำกว่าแอมป์ชนิดหลอดสูญญากาศแต่ในเวลาฟังจริง ๆ ในทางภาคปฏิบัติ นักฟังมักจะชื่นชอบเสียงจากแอมป์หลอดมากกว่า ดังนั้นค่าความเพี้ยนต่าง ๆ ที่กำหนดเอาผู้ฟังไว้ในสเปกของเครื่อง จึงไม่สามารถบอกได้ว่าเครื่องรุ่นใด ชนิดใดให้เสียงดีกว่า จากแค่การพิจารณาความเพี้ยนของสเปกเครื่อง

เพาเวอร์แอมป์ประเภททรานซิสเตอร์ยังต้องมีการออกแบบฮีทซิ้งหรือแผงระบายความร้อนในอุปกรณ์ เพื่อให้การระบายความร้อนสะสมที่เกิดกับอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำไปได้รวดเร็วที่สุด ความร้อนสะสมภายในตัวทรานซิสเตอร์ จะทำให้มันมีอายุการใช้งานสั้นลงมากกว่าปกติ ความร้อนยิ่งมากตัวอุปกรณ์เหล่านี้จะมีกระแสไหลผ่านมาก และถ้ายังมีกระแสไหลผ่านตัวมันมากขึ้นเรื่อย ๆ มันก็จะทำให้อุปกรณ์นั้นเสียหายได้ ถ้าหากว่าอุปกรณ์ที่เป็นทรานซิสเตอร์ล้วน ๆ จะต้องมีวงจรช่วยในการจำกัดกระแสที่ไหลผ่านตัวทรานซิสเตอร์นั้น ๆ ไม่ให้ร้อยจนเกินกว่าตัวอุปกรณ์นั้นจะรับได้

ในช่วงระยะหลัง ๆ ได้มีการนำเอาทรานซิสเตอร์ชนิดพิเศษที่เรียกว่า "มอสเฟท" เข้ามาทำงานแทนที่ทรานซิสเตอร์ธรรมดาทั่วไป ข้อดีจของมอสเฟทก็คือ ไม่ต้องมีระบบวงจรชดเชยอุณหภูมิ เนื่องจากมีคุณสมบัติพิเศษในการจำกัดจำนวนกระแสดที่ไหลผ่านตัวของมันได้เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น มอสเฟทจึงไม่เสียหายง่าย ๆ อย่างทรานซิสเตอร์ธรรมดาทั่ว ๆ ไป

เพาเวอร์แอมป์วงจรทรานซินเตอร์นั้นมักจะมีการออกแบบที่แตกต่างหลากหลายมากคงไม่สามารถนำมาแจกแจงทั้งหมดได้ แต่ข้อเสียที่เห็นได้ชัดเจนของแอมป์ประเภทนี้ก็คือ เมื่อเวลามีการใช้กำลังขับมาก…จนคลิปแอมป์ทรานซิสเตอร์จะมีความเพี้ยนในระดับที่สูงมาก ผู้ฟังจะได้ยินเสียงแตกพร่าชัดเจนรุนแรงว่าแอมป์หลอดสูญญากาศหลายเท่าตัวดังนั้นการเลือกเล่นแอมปลิไฟร์ชนิดทรานซิสเตอร์ จึงน่าเลือกแอมป์ที่มีพลังขับสูง ๆ เอาไว้ก่อน โดยเฉพาะในกรณีที่คุณมีห้องฟังขนาดใหญ่ ๆ และจำเป็นต้องใช้แอมป์ไปขับลำโพงซึ่งมีค่าความต้านทานสูง หรือลำโพงที่มีความไวค่อนข้างต่ำ

สิ่งที่ดีกว่าของแอมป์ทรานซิสเตอร์ก็คือ เรื่องของค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์ ซึ่งจะมีอัตราที่สูงกว่าแอมป์ไฟร์แบบหลอดสูญญากาศ ค่าแดมปิ้งแฟคเตอร์ คือการหยุดยั้งการสั่นค้างของลำโพง ในการฟังเสียงแอมปลิไฟร์ประเภทหลอดสูญญากาศ คุณจะพบได้ง่ายว่าความถี่ต่ำของมันจะมีความพร่าเลือนไม่ฉับไว (ในความถี่ต่ำมาก) แอมปลิไฟร์ที่หยุดยั้งการสั่นค้างของลำโพงได้ดี ๆ จะทำให้เสียงกระชับฉับไวสมจริงมากยิ่งขึ้น นี่เป็นคุณสมบัติที่แอมป์ทรานซิสเตอร์จะให้ได้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดทั้งหลายในทางปฏิบัติ จะมีข้อปลีกย่อยอีกมากมาย มิใช่เพียงแค่คุณสมบัติเพียงด้านเดียวของ DAMPING FACTOR เท่านั้น

ข้อที่น่าสังเกตคือ ในระดับไฮเอ็นด์สูงสุดแล้ว แอมป์หลอดกับแอมป์ทรานซิสเตอร์ล้วนมีราคาสูงสูดโต่งด้วยกันทั้งคู่ น้ำเสียงบุคลิกของมันก็ยอมเยี่ยมมีรายละเอียดดี ยากจะนำข้อจำกัดความของลักษณะเสียงมาชี้ขาดได้ว่าใครดีกว่าใคร

แต่ในแอมปลิไฟร์ระดับราคาตลาดแล้วแอมปลิไฟร์ทรานซิสเตอร์มักจะก่อความเพี้ยนได้รุนแรง หรือฟังออกได้ง่ายกว่า เพราะทรานซิสเตอร์ที่มีอาการผิดเพี้ยน จะผิดเพี้ยนที่ฮาร์โมนิคคี่ ซึ่งมีผลต่อการรับฟังของหูมากกว่าฮาร์โมนิคคู่ แอมปลิไฟร์ทรานซิสเตอร์ชั้นดี จึงมักออกแบบพลังสำรองให้สูง ๆ เพื่อป้องกันอาการผิดเพี้ยนของเสียงดังกล่าวข้างต้น

ตามปกติทั่วไป แอมปลิไฟร์หรือเพาเวอร์แอมป์หลอดสูญญากาศ มักจะเป็นแอมป์ที่มีราคาแพงเสมอ ในขณะที่แอมป์ทรานซินเตอร์นั้น จะมีทั้งสนนราคาแพงและไม่แพง

แต่บทสรุปอื่น ๆ เกี่ยวกับหลอดหรือทรานซิสเตอร์นั้น ยังไม่มีบทสรุปที่แน่นอนว่าควรเลือกเล่นแอมป์แบบใด ?

อุปกรณ์ที่นำมาใช้ในวงจรเพาเวอร์แอมป์ต่อไปนี้ ล้วนมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันมีทั้งข้อดีและข้อเสียด้วยกันทั้งสองประการ ซึ่งผมจะขอแจกแจงเอาไว้ พอเป็นที่ประดับความรู้ในการเลือกซื้อแอมปลิไฟเออร์

MOSFET หรือ METAL OXIDE SEMI-CONDUCTOR FIELD EFFECT TRANSISTOR ซึ่งเป็นอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำที่มีการทำงานคล้ายหลอดสูญญากาศมาก คือเมื่อได้รับอินพุทโวลเตจ ก็จะเกิดสนามไฟฟ้าเล็ก ๆ ขึ้นในตัวของมัน เพื่อใช้ในการควบคุมปริมาณกระแสที่จะวิ่งผ่านตัวของมัน และมอสเฟทนั้น ก็จะมีค่าความต้านทานขาเข้าสูงมาก สูงกว่าไบโพล่าร์ทรานซิสเตอร์โดยทั่วไป

BIPOLAR TRANSISTOR หรืออุปกรณ์จำพวกสารกึ่งตัวนำ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายและกว้างขวางมาก ทรานซิสเตอร์นั้นมีการทำงานที่แตกต่างไปจนมอสเฟท และหลอดสูญญากาศ คือมันจะทำการตอบสนองต่อกระแส ไม่ใช่โวลเตจอินพุทอย่างเป็นกับมอสเฟทเมื่อมีกระแสเข้าปริมาณหนึ่งที่อินพุทของมัน แต่ในทางเอ๊าท์พุท กระแสจะไหลออกเป็นปริมาณมากกว่า นั่นคือการทำงานขยายเสียงของมันนั่นเอง

TUBE หลอดสูญญากาศ เป็นอุปกรณ์ดั้งเดิมที่รู้จักกันมาก่อนทรานซิสเตอร์ ขั้วของหลอดจะประกอบด้วยคาโธค เพลท และกริด (CATHOD, PLATE, GRIE) การไหลผ่านของอีเล็กตรอน จะเกิดการจุดไส้หลอดโดยที่ขั้วของคาโธคจะเป็นขั้วลบ และเพลทเป็นขั้วบวก เมื่อหลอดถูกจุดให้ร้อน อีเล็กตรอนก็จะกระโดดจากคาโธคไปยังเพลทเป็นเหตุให้มีการไหลของกระแสปริมาณกระแสนั้นจะถูกควบคุมโดยกริด ซึ่งอยู่ในระหว่างทางเดินของอีเล็กตรอน และจากการที่ขั้วของหลอดทั้ง 3 ขั้ว ไม่ได้ต่อให้ถึงกัน ดังนั้นจึงมีค่าความต้านทานทางด้านอินพุทที่สูงมาก

POWER SUPPLY เป็นภาคจ่ายไฟเพาเวอร์แอมป์ ส่วนของวงจรนี้มีหน้าที่หลักในการจ่ายกระแสให้กับตัวเครื่องทั้งหมด วงจรเบสิกทั้งไปจะประกอบด้วย ไดโอด(Diode)4 ตัว คาปาซิเตอร์(Capacitor)จำนวน 2 ตัว นอกจากกรณีของการต่อพ่วงกัน เพื่อให้วงจรมีเสถียรภาพที่ดียิ่งขึ้นไปอีก

POWER TRANSFORMER คือส่วนหนึ่งของวงจรเพาเวอร์ซัพพลาย เป็นหม้อแปลงไฟฟ้า สำหรับแปลงไฟบ้านขนาด 220 โวลท์ ให้เหมาะสมกับวงจรที่ต้องการใช้หากวงจรของเพาเวอร์แอมป์มีกำลังขับสูงก็ย่อมต้องการไฟเลี้ยงวงจรที่สูงขึ้น สมมติว่าเป็นแอมป์ที่มีกำลังขนาด 100 วัตต์ (ชนิดทรานซิสเตอร์) จะต้องแปลงไฟจาก 200 โวลท์ให้ลงมาเหลือ 40 โวลท์โดยประมาณ ส่วนเพาเวอร์แอมป์หลอดสูญญากาศ อาจจะต้องแปลงไฟให้สูงกว่า 220 โวลท์ ข้อสังเกตก็คือ ตัวเพาเวอร์แอมป์วงจรเดียวกัน หากเพาเวอร์ซัพพลายของเครื่องตัวใดตัวหนึ่งออกแบบได้ดีกว่า ก็จะให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าอย่างแน่นอน

เรื่องที่น่ารู้ เกี่ยวกับเพาเวอร์แอมป์นั้นยังมีอีกมากมาย แต่คำศัพท์ที่สำคัญ ซึ่งมีผลต่อคุณภาพเสียงนั้นจะมีในวงจำกัดไม่กี่คำ ยกตัวอย่างเช่น

SLEW RATE หมายถึงค่าความไวของเพาเวอร์แอมป์ ในอันที่จะตอบสนองต่อสัญญาณอินพุท ซึ่งมักจะบอกกันเป็นค่าของโวลท์ต่อไมโครเซกั้นด์ เช่น อัตราการสรูว์เรทของเพาเวอร์แอมป์เครื่องหนึ่งมีอัตรา 60 โวลท์ต่อไมโครเซกั้นด์ ก็หมายถึงเมื่อสัญญาณอินพุทมีการเปลี่ยนแปลงค่าต่อเอ๊าท์พุท เอ๊าท์พุทจะสามารถเปลี่ยนจากศูนย์ถึง 60 โวลท์ ได้ภายในเวลา 1 ไมโครเซกั้นด์ (หรือหนึ่งในล้านวินาที)

การเปรียบเทียบค่า SLEW RATE นั้นจะต้องเปรียบเทียบจากแอมปลิไฟร์ที่มีกำลังขับระดับเดียวกันจึงจะเหมาะสม ไม่ควรนำแอมป์ขนาด 100 วัตต์ ไปเปรียบเทียบอัตราสรูว์เรทกับแอมป์ขนาด 20 วัตต์ เพราะแอมป์ขนาดกำลังขับทั้ง 2 ขนาดนี้ ย่อมจะต่างกันโดยเบสิกของการออกแบบอยู่แล้ว

คลาสของเพาเวอร์แอมป์ ที่จริงผมเคยเขียนถึงลักษณะการทำงานของแอมปลิไฟร์วงจรต่างๆ เหล่านี้มาแล้ว ด้วยกลวิธีในการออกแบบภาคขยาย และวิธีการจัดไบอัสให้กับทรานซิสเตอร์นั่นเอง ได้แบ่งให้เกิดแอมป์คลาสต่าง ๆ มากมาย แต่เป็นที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือ แอมป์คลาส A และคลาส AB จะขอสรุปสั้น ๆ เพื่อเป็นการทบทวนเรื่องคลาสของแอมป์ซึ่งเคยพูดถึงมาบ้างแล้ว ซึ่งจะขอยกเว้นภาคขยายประเภทอื่น ๆ อันไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน

CLASS A
การจัดวงจรภาคขยายแบบนี้ จะมีการไบอัสกระแสให้กับทราสซิสเตอร์อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณมาให้ขยาย ตัวทรานซิสเตอร์ก็ยังจะจต้องมีปริมาณกระแสไหลผ่านในปริมาณค่อนข้างสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ตัวเครื่องของแอมป์คลาส A จะมีความร้อนสูงกว่าการจัดวงจรแบบคลาสอื่น ๆ ข้อดีก็อาจจะมีตรงที่ค่าความเพี้ยนต่าง ๆ จะมีต่ำกว่าวงจรแบบอื่น ๆ และแอมป์คลาส A มักจะทำให้มีกำลังขับได้ไม่สูงนัก ถ้าผลิตแอมป์คลาส A ที่มีกำลังขับสูง ๆ ตัวเครื่องและส่วนของแผงระบายความร้อนจะต้องมีขนาดใหญ่กว่าปกติมาก

CLASS B
เป็นการจัดวงจรที่ต่างจากคลาส A โดยสิ้นเชิง คือเมื่อไม่มีสัญญาณอินพุทเข้ามา ก็จะไม่มีกระแสไหลผ่านทรานซิสเตอร์ จะมีกระแสไหลผ่านได้ก็ต่อเมื่อมีสัญญาณอินพุทเข้ามาเท่านั้น แอมป์คลาส B มักจะมีค่าความเพี้ยนสูงมาก แต่มันมีข้อดีที่จะทำเป็นแอมป์กำลังขับสูง ๆ ได้ ปัจจุบันไม่มีแอมป์คลาส B แท้ ๆ อีกแล้ว เนื่องจากคุณภาพเสียงไม่เป็นที่น่าพอใจ

CLASS AB
แอมปลิไฟร์หรือเพาเวอร์แอมป์ซึ่งเป็นที่นิยมที่สุดในปัจจุบัน การออกแบบจะนำข้อดีของแอมป์ทั้งคลาส A และคลาส B มาผสมผสานกัน คือ มีการปล่อยให้มีกระแสปริมาณน้อย ๆ ผ่านทรานซิสเตอร์จำนวนหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีสัญญาณอินพุทเข้ามาเลย การทำงานปิดเปิดก็จะเป็นไปตามสัญญาณอินพุททั่วไป เพียงแต่ว่าวงจรนี้ จะไม่มีการ OFF ของกระแสทั้งหมด แม้ว่าจะไม่มีอินพุทเข้ามา
คุณสมบัติของเพาเวอร์แอมป์ที่ดีนั้นไม่อาจจะสรุปได้โดยง่าย ในแง่ของเทคนิคพื้นฐานที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเพียงพื้นฐานที่ท่านผู้อ่านควรทราบไว้บ้าง เพื่อจะได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับแอมปลิไฟร์เออร์ แต่ถ้าพิเคราะห์กันถึงวิธีการเลือกซื้อแล้ว เรามักจะจัดให้เพาเวอร์แอมป์ได้มีโอกาสจับคู่กับปรีแอมป์ แล้วทำงานขับลำโพงจริง ๆ เพื่อฟังผลของคุณภาพเสียง มากกว่าการพิจารณาคุณสมบัติของเพาเวอร์แอมป์เพียงเครื่องเดียว

บทสรุปที่เห็นเด่นชัดในทางปฏิบัติของเพาเวอร์แอมป์ที่ดี คือ

1. พลังขับจะต้องสมบูรณ์ตลอดย่านความถี่ และระดับความดังไม่มีเสียงพร่าเพี้ยนเมื่อทำงานในระดับความดังสูง ๆ

2. มีน้ำเสียงที่เป็นธรรมชาติ ไม่ผิดเพี้ยนความเป็นจริง เช่น เสียงจัด เสียงขุ่นมัว หรือเบลอ

3. ในระดับความดังแบบแบ็กกราวด์มิวสิก (เบา ๆ) เพาเวอร์แอมป์ที่ดี จะให้รายละเอียดของชิ้นดนตรีได้มากกว่าเพาเวอร์แอมป์ที่ไม่ดี ข้อสังเกตคือ แอมป์ขนาดกำลังขับสูง ๆ แม้จะเปิดในระดับความดังเท่ากับแอมป์ขนาดกำลังขับต่ำ ๆ แอมป์กำลังขับสูงจะให้เสียงที่มีรายละเอียดมากกว่าเสมอ

4. มีความเป็นกลางของน้ำเสียงสามารถจัดเข้ากับปรีแอมป์ได้หลากหลายและยังคงลักษณะบุคลิกเสียง ที่เป็นแฟล็ท(เดิมๆ)ได้เสมอ

5. ควรมีวงจรโพรเท็คชั้น ป้องกันตนเองได้ กรณีเอ๊าท์พุทช้อต โดยไม่ทำให้คุณภาพเสียงโดยรวมเสียหาย

6. การออกแบบ จะต้องคำนึงถึงการใช้งานจริงอันเหมาะสม ไม่ใช่แค่สวยงามที่รูปทรงของเครื่องแต่อย่างเดียวเท่านั้น

7. เพาเวอร์แอมป์ที่ดี ย่อมไม่เกี่ยงลำโพงที่มีอิมพีแดนซ์ซับซ้อน และต้องไม่มีอาการเสียงเครียดเมื่อเปิดฟังนาน ๆ

นั่นคือคุณสมบัติบางประการ ที่จะช่วยให้ท่านผู้อ่านพิจารณาเลือกเฟ้นเวอร์แอมป์ที่ดีได้ แม้จะไม่ใช่สูตรสำเร็จทั้งหมด

ข้อสำคัญก็คือ คุณจะต้องคำนึงถึงคุณภาพเสียงที่ถูกใจ และถูกหูของคุณด้วย

เพาเวอร์แอมป์ที่ยกตัวอย่างในภาพประกอบของบทความตอนนี้ คือส่วนหนึ่งของเพาเวอร์แอมป์ยอดนิยมในปัจจุบัน ในระดับราคากลาง ๆ จนถึงราคากลางสูง ซึ่งท่านผู้อ่านสามารถที่จะหาโอกาสไปทดลองฟัง ได้จากตัวแทนจำหน่ายของแต่ละยี่ห้อ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น