ผู้เยี่ยมชม
วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552
ชนิดของไมโครโฟน
บางครั้ง นอกจากฟังเพลงและดนตรีที่ศิลปินร้องจากเครื่องเสียงแล้ว เราอาจอยากจะขยับมาร้องเพลงเองผ่านไมโครโฟน และเครื่องเสียงคาราโอเกะ ซึ่งก็ให้ความเพลิดเพลินผ่านการถ่ายทอดเสียงร้องของตนเองที่บ้าน หรือฝึกร้องสำหรับงานต่างๆ ได้ ดังนั้นวันนี้ผมจึงนำความรู้เรื่องชนิดของไมโครโฟนมาฝากกันครับ..
..ชนิดของไมโครโฟน
ไมโครโฟนที่เราเห็นกันทั่วไปตามท้องตลาดนั้นมีมากมายหลายรูปแบบซึ่งมีการออกแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นสี ขนาด น้ำหนัก ความคงทน และรวมถึงราคาด้วย ก่อนที่เราจะเลือกไมโครโฟนได้ถูกต้องกับการใช้งานของเรา เราคงต้องมาเริ่มต้นดูกันที่ชนิดของไมโครโฟนตามการแปลงสัญญาณหรือตามการออกแบบ (Method of Transducer or Design Type)ก่อนว่ามีอะไรบ้าง และชนิดใดเหมาะกับงานของเรา เราสามารถแบ่งชนิดของไมโครโฟนเป็น 6 ชนิดด้วยกัน คือ
1.Dynamic Microphone (ไดนามิกไมโครโฟน )
2.Condenser Microphone (คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน)
3.Electret Condenser Microphone (อีเลคเตรด คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน)
4.Ribbon Microphone (ริบบอนไมโครโฟน)
5.Carbon Microphone (คาร์บอนไมโครโฟน)
6.Piezo- Electric Microphone ( เพียโซ- อีเลคทริก ไมโครโฟน)
-1.Dynamic Microphone (ไดนามิกไมโครโฟน )
ไดนามิกไมโครโฟน (Dynamic Microphone) หรือ มูฟวิ่งคอยล์ไมโครโฟน (Moving Coil Microphone)เป็นไมโครโฟนที่ใช้กันทั่วไปในงานระบบเสียงปัจจุบันนี้ มีลักษณะการทำงานกลับกับการทำงานของลำโพง เมื่อมีเสียงมากระทบที่ไดอะแฟรม (Diaphragm) ทำให้เกิดการสั่นและเคลื่อนไหวเข้าออกของมูฟวิ่งคอยล์ที่พันอยู่รอบๆ กรวยไดอะแฟรมจึงเกิดการตัดกันของสนามแม่เหล็ก และเกิดการเหนี่ยวนำกลายเป็นกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กส่งออกมาตามขดลวด ขนาดความแรงของสัญญาณไฟฟ้าและทิศทางขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของขดลวด
ไดนามิกไมโครโฟนมีความแข็งแรงทนทานสูง ราคาไม่แพงและเป็นที่นิยมใช้ทั่วไป ด้วยเหตุผลนี้เองทำให้มีการใช้ไดนามิกไมโครโฟนกันมากในระบบเสียงงานเวที หรือในงานระบบเสียงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพลังงานอคูสติกสูงและบ่อยครั้ง ไดนามิกไมโครโฟนยังมีความคงทนต่อองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่นอุณหภูมิ และสภาพแสงแดดได้อย่างดี
-2.Condenser Microphone (คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน)
คอนเดนเซอร์หรือ คาร์ปาซิเตอร์ไมโครโฟนเป็นไมโครโฟนอีกประเภทหนึ่งที่นิยมใช้พอๆกับไดนามิกไมโครโฟน
คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน ต้องมีไฟเลี้ยงจ่ายให้อยู่ตลอดเวลาที่มีการใช้งานซึ่งอยู่ระหว่าง 9-48 โวลท์ที่มาจากแบตเตอรี่ที่บรรจุเข้าไปในตัวไมโครโฟน หรือจาก มิกเซอร์โดยผ่านทางสายไมโครโฟน หลัการทำงานคือเมื่อมีการเคลื่อนไหวเข้าใกล้และห่างออกจากกันระหว่างไดอะแฟรมกับแบคเพรท (Back plate) โดยแบคเพรทจะอยู่กับที่และส่วนที่เป็นไดอะแฟรมจะเคลื่อนไหวตามเสียงที่เข้ามา จึงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางคุณสมบัติทางประจุไฟฟ้าและทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าขึ้นซึ่งมีขนาดเล็กมาก ซึ่งจะถูกนำไปขยายโดยภาคขยายเล็กๆ ซึ่งซ่อนอยู่เพื่อขยายสัญญาณและเพื่อแยกค่าอิมพีเด้นของไมโครโฟนออกจากค่าอิมพีเด้นที่ต่ำที่ตัวไมโครโฟนต่ออยู่
คอนเดนเซอร์ ไมโครโฟนมีคุณสมบัติทางเสียงที่ดีเหมือนธรรมชาติ ใช้กับงานที่ต้องการการตอบสนองทาง Transient เช่น เครื่องดนตรีที่เป็นพวก Percussion และนิยมใช้กันมากในห้องบันทึกเสียง และงานทั่วไป ความทนทานจะสู้ไดนามิกไมโครโฟนไม่ได้ ไวต่อการเสียหายเมือมีการกระแทกของเสียง การกระทบกระเทือนอย่างแรง และสภาพแวดล้อม เช่นความชื้น ราคาจะสูงกว่าไดนามิกไมโครโฟน
-3.Electret Condenser Microphone (อีเลคเตรด คอนเดนเซอร์ ไมโครโฟน)
อีเลคเตรด คอนเดนเซอร์ ไมโครโฟน เป็น คอนเดนเซอร์ไมโครโฟนชนิดพิเศษที่มีไดอะแฟรมเป็นพลาสติก และต้องอาศัยภาคขยายและไฟเลี้ยง 1.5 – 9 โวลท์ในการทำงาน ซึ่งภาคขยายและแหล่งจ่ายไฟอาจจะอยู่ในตัวไมโครโฟนหรือเป็นกล่องซึ่งมีสายต่อไปที่ตัวไมโครโฟนก็ได้
อีเลคเตรด คอนเดนเซอร์ไมโครโฟนนี้มีใช้กันในห้องบันทึกเสียง และในระบบเสียงทั่วไปและด้วยคุณสมบัติที่สามารถทำให้เล็กและเทคโนโลยี่ที่ไม่แพงจึงทำให้ไมโครโฟนชนิดนี้มีอยู่ในสินค้าอุปโภคทั่วไป
-4.Ribbon Microphone (ริบบอน ไมโครโฟน)
การทำงานของริบบอนไมโครโฟน ใช้หลักการเหนี่ยวนำเหมือนกับไดนามิกไมโครโฟน เมื่อมีเสียงมากระทบที่ริบบอนซึ่งทำด้วยแผ่นอลูมิเนียมบางๆ ทำให้เกิดการสั่นและเคลื่อนไหวเข้าออกจึงเกิดการตัดกันของสนามแม่เหล็ก และเปลี่ยนเป็นกระแสไฟฟ้า แต่เนื่องจากกระแสไฟฟ้ามีขนาดเล็กมากและมีค่าอิมพีเด้นต่ำจึงทำให้ต้องมีหม้อแปลงอยู่ภายใน โดยหม้อแปลงนี้ทำหน้าที่ 2 อย่างคือ ขยายสัญญาณ และ แยกค่าอิมพีแด้นของริบบอนกับภาค อินพุทที่ไมโครโฟนต่ออยู่
ในยุคแรกๆ ริบบอนไมโครโฟนเปราะบางมาก และในปัจจุบันไม่ค่อยมีการผลิตมากนักจะพบอยู่ในห้องบันทึกเสียงเป็นส่วนใหญ่ ด้วยคุณสมบัติที่ตอบสนองความถี่สูงได้ดีและให้คุณภาพเสียงที่ยอดเยี่ยม การรบกวนที่ต่ำ การตอบสนองต่อ Transientแวดล้อมดี
-5.Carbon Microphone (คาร์บอนไมโครโฟน)
คาร์บอนไมโครโฟนเป็นไมโครโฟนที่พบในยุคแรกๆ
หลักการทำงานของคาร์บอนไมโครโฟน ( Carbon Microphone) คือ เมื่อมีเสียงมากระทบที่ไดอะแฟรม (Diaphragm) จะทำให้เกิดการสั่นของเม็ดคาร์บอน การสั่นมากหรือน้อยของเม็ดคาร์บอนนี้ขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวของไดอะแฟรม การสั่นนี้เองทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของค่าความต้านทานทางไฟฟ้าสูงและต่ำตามการเคลื่อนไหวของไดอะแฟรม และแปลงค่าความต่างศักย์ของแบตเตอรี่เป็นกระแสไฟฟ้าที่มีค่าสูงต่ำตามสัญญาณเสียง หม้อแปลงแบบ Step Up ก็จะทำหน้าที่ขยายสัญญาณให้มีความแรงขึ้นและยังทำหน้าที่แยกค่าอิมพีเด้นทางอินพุทกับตัวไมโครโฟน และยังป้องกันไฟฟ้ากระแสตรงจากแบตเตอรี่ออกไปที่อินพุทด้วย
คาร์บอน ไมโครโฟนมีราคาถูก ทนทาน แต่คุณภาพของเสียงไม่ดี ส่วนใหญ่ จะ พบเห็นในการใช้งานทั่วไปในอดีต เช่น โทรศัพท์ ซึ่งในปัจจุบันนี้โทรศัพท์ได้เปลี่ยนมาเป็นแบบไดนามิกแล้ว
-6.Piezo- Electric Microphone (ไพอีโซ-อีเลคทริกไมโครโฟน)
ไพอีโซ- อีเลคทริกไมโครโฟนเป็นไมโครโฟนที่พบในยุคแรกๆอีกประเภทหนึ่งหรือบางครั้งเรียกว่า คริสตัล หรือ เซรามิก ไมโครโฟน (Crystal or Ceramic)
เมื่อมีเสียงมากระทบที่ไดอะแฟรม (Diaphragm) ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนตริสตัลก็เปลี่ยนรูปอย่างช้าๆ และทำให้เกิดแรงดันซึ่งจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงรูปทรงของคริสตัล เช่นเดียวกับ คาร์บอนไมโครโฟน ไพอีโซ- อีเลคทริกไมโครโฟนมีราคาถูกและคุณภาพเสียงไม่ค่อยดี
ไพอีโซ-อีเลคทริกไมโครโฟน มีค่าอิมพีแด้นสูงและมีเอ้าพุทที่แรง แต่เสียหายง่ายและไม่สามารถแก้ไขได้ถ้ามีการการกระแทกอย่างแรง ไม่ทนต่อสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง เช่น ความร้อน และความชื้น
ไมโครโฟนทั้ง 6 ชนิดที่ได้กล่าวมานั้น ในปัจจุบันเราจะเห็นใช้กันอยู่มากและแพร่หลายก็มีเพียง 2 ประเภท คือ ไดนามิกไมโครโฟน (Dynamic Microphone) และ คอนเดนเซอร์ไมโครโฟน (Condenser Microphone)
จากรายละเอียดและคุณสมบัติของไมโครโฟนทั้ง 6 ชนิดที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น คงจะทำให้ทุกท่านเข้าใจไม่มากก็น้อยเกี่ยวกับการออกแบบของไมโครโฟนแต่ละชนิดว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติทางเสียง ความคงทน หรือแม้กระทั่งราคานะครับ ..!!.อ้าว.!!. มาร้องเพลงกันดีกว่า.. (^-^)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น