ผู้เยี่ยมชม

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเซ็ตลำโพง


****นักเลงเครื่องเสียงส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ถ้าเครื่องเสียงดีมีราคาแพง เสียงที่ออกมานั้นต้องดี แต่ในโลกความจริงนั้นมักโหดร้าย เพราะเครื่องเสียงดี ๆ เมื่อฟังแล้วเสียงไม่ดีก็มีถมไปเพราะคนติดตั้งไม่เข้าใจเรื่องการเซ็ตอั๊พลำโพง ดังนั้นการขยับลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟังทีละน้อย ๆ ถึงจะใช้เวลามาก แต่ผลที่ออกมาคิดว่าคุ้มกับหยาดเหงื่อและแรงงานเพราะเสียงที่ได้นั้นดีขึ้นผิดหูผิดตา แม้เครื่องที่ใช้นั้นไม่ใช่เครื่องราคาแพง ใช้สายสัญญาณสายลำโพงเส้นละหลายหมื่น ลองดูแล้วจะโดนใจ มิใช่น้อย

เมื่อศึกษาและจับประเด็นให้เล็กลงเรื่อย ๆ สิ่งที่พบกลับกลายเป็นเส้นผมบังภูเขาครับ เวลานี้ผมจึงฟันธงได้ว่าเครื่องเสียง เสียงจะดีหรือแย่อันดับแรกคือ

1. Matching กันหรือเปล่าระหว่างแอมป์กับลำโพงแต่ถ้าผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว

2. Matching ระหว่าง System กับห้องฟัง

ข้อสองนี่แหละครับที่ยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนเล่นเครื่องเสียงที่อัฐน้อยแต่ต้องการเสียงที่ดีที่สุดแบบผม ครั้นจะทำห้องฟังเป็นสัดส่วนแบบบ้านมีอันจะกินก็ใช่ที่เพราะค่าทำห้องฟังก็ไม่ใช่ถูก ๆ ทางเลือกเดียวคือดัดแปลงห้องรับแขกหรือห้องนอนมาทำห้องฟังเพลง ซึ่งแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นเลย นอกจากต้องขยันฟังและขยับลำโพงกันทีละนิดจนกว่าจะได้จุดที่ดีที่สุดครับ

แม้การขยับลำโพงเข้าออกทีละน้อยจะเป็นการงมเข็มในมหาสมุทรก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เซ็ตติ้งลำโพงได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ แรก ๆ อาจจะท้อแท้แต่บอกได้ว่ามันคุ้มค่ากับความเหนื่อยมากนัก ดีกว่าเราไปเสียเงินซื้อสายสัญญาณแพง ๆ หรือสายลำโพงแพง ๆ เสียอีก

หลักการแรก ก่อนที่จะทำการเซ็ตติ้งลำโพง ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองไปค้นคู่มือที่ติดมากับลำโพงมาอ่านเสียก่อน ส่วนใหญ่แล้วถ้าซื้อลำโพงจากค่ายยุโรปหรืออเมริกา มักจะมีคู่มือติดมาให้ด้วยว่าลำโพงรุ่นนั้น ๆ ชอบให้วางห่างผนังด้านหลัง หรือว่าชอบวางมาทางด้านหน้าเป็นต้น คู่มือของยี่ห้อนั้น ๆ จะทำให้เราจับหลักได้ง่ายขึ้นไม่ต้องเริ่มโดยไม่รู้ทิศทาง

หลักการที่สอง ขนาดลำโพงต้องสัมพันธ์กับห้องเช่น ลำโพงวางหิ้ง(ลำโพงเล็ก) ควรจะใช้ห้องไม่ใหญ่นัก ขนาดห้องอยู่ระหว่าง 12-20 ตารางเมตร ถ้าให้ดีควรจะเป็นห้องที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าส่วนลำโพงตั้งพื้น หรือลำโพงใหญ่ ควรจะต้องใช้เนื้อที่สัก 20 ตารางเมตรขึ้นไป ขณะเดียวกันความสูงของห้องก็มีผลกับย่านเสียงเช่นกัน ถามว่าทำไมลำโพงเล็กฟังห้องใหญ่ไม่ได้ที่จริงฟังได้นะครับ แต่มันไม่ Match กันนั่นเอง เช่นเดียวกับลำโพงใหญ่ไปฟังห้องเล็ก ๆ ความใหญ่ของลำโพงจะทำให้ย่านเสียงทุ้มที่มีปริมาณมากกลบทับเสียงกลางและเสียงแหลมจนฟังไม่ไพเราะ หรือถ้าใครชอบแบบนั้นก็ไม่มีปัญหานะครับแต่สำหรับผมแล้วการฟังเพลงจะต้องได้ทั้งเสียงทุ้ม กลาง แหลม ในปริมาณที่สมดุลกัน

หลักการที่สาม ขอให้สังเกตว่าลำโพงของเรานั้นมีท่อระบายลมทางด้านหน้าหรือหลัง ส่วนใหญ่แล้วลำโพงที่มีท่อระบายอากาศด้านหน้า เราสามารถวางตัวลำโพงให้ชิดกับผนังด้านหลังได้มากกว่าลำโพงที่มีท่อระบายลมจากด้านหลัง นั่นหมายความว่าถ้าเราวางลำโพงไว้ชิดผนังด้านหลังมากเท่าไหร่ เสียงเบสก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

หลักการที่สี่ ผนังในห้องทั้งสี่ด้านรวมถึงพื้นห้องมีความสำคัญกับการกระจายเสียงมาก โดยเฉพาะผนังด้านหลังและผนังข้าง ผนังด้านข้างจะเป็น First Reflect ที่คลื่นเสียงจะกระทบก่อนจะถึงหูของผู้ฟัง การสะท้องของคลื่นเสียงจากผนังด้านหนึ่งไปด้านหนึ่ง ก่อนจะมาถึงหูคนฟังนั้นคลื่นบางความถี่จะตีกันจนฟังแล้วเสียงไม่เคลียร์ มีความสับสน ระยะห่างระหว่างลำโพงทั้งสองข้างกับระยะห่างจากผนังด้านหลัง จนไปถึงจุดนั่งฟังจึงมีความสัมพันธ์กัน

หลักการที่ห้า การวัดความกว้างยาวนั้นจะต้องเริ่มวัดจากจุดกึ่งกลางของทวิตเตอร์(ลำโพงดอกเสียงแหลม)เสมอไม่ว่าจะวัดความห่างจากผนังด้านหลังหรือด้านข้าง หรือวัดระยะห่างจากทวิตเตอร์ลำโพงสู่จุดนั่งฟัง

หลักการที่หก ควรจะ "โทอิน" กี่องศาดี การ"โทอิน" คือการหันหน้าลำโพงทำมุมเอียงเข้าหาจุดนั่งฟัง การจะโทอินกี่องศานั้นควรยึดคู่มือลำโพงเป็นหลัก หรือค่อย ๆ โทอินลำโพงทีละน้อยการโทอินจะทำให้โฟกัสดนตรีมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ผู้นั่งฟังจะต้องอยู่ในจุดที่เสียงไปรวมกันพอดี เราจะเรียกจุดนั่งฟังนี้ว่า Sweet Spot ลำโพงคอมเมอร์เชียลส่วนใหญ่จะชอบให้ผู้ฟังโทอินไม่มากก็น้อย แต่สำหรับลำโพง Full Range ที่ใช้ดอกลำโพงเดียวมักไม่ชอบการโทอิน ดังนั้นก่อนโทอินจึงต้องศึกษาคู่มือหรือทดลองฟังทีละน้อยก่อน

หลักการที่เจ็ด จะเริ่มต้นจัดตั้งลำโพงอย่างไร นี่เป็นข้อที่ยากที่สุดนะครับ แต่ก็น่าดีใจที่มีคนคิดสูตรการจัดตั้งลำโพงออกมาเป็นทฤษฎีให้เราได้ใช้กัน และทำให้ผู้เริ่มต้น เริ่มต้นอย่างถูกวิธีด้วยความสะดวกสบาย ผมขออิงทฤษฎีของ จอร์จ คาร์ดาส (George Cardas) ผู้ก่อตั้งสายสัญญาณสายลำโพง สายสัญญาณยี่ห้อดังอย่าง Cardas

จอร์จ คาร์ดาส ได้ทำสูตรการคำนวณตำแหน่งการจัดวางลำโพงออกมา ซึ่งทำให้เรานำไปใช้ในการจูนเสียงได้ง่ายขึ้น เมื่อใช้สูตรนี้คำนวณแล้วเราจะจูนเสียงโดยการฟังอีกรอบหนึ่ง เราก็จะได้ระยะลำโพงที่แมตซ์กับห้องฟังของเรา แม้จะไม่สมบูรณ์ที่สุดแต่ก็เป็นตัวเลือกที่จะทำให้เสียงของชุดเครื่องเสียงของท่านเสียงดีขึ้นโดยไม่ต้องเสียแม้แต่สตางค์เดียวในการอัพเกรด

สูตรที่จอร์จ คาร์ดาส ให้มามีดังนี้ วิธีการคำนวณก็คือวัดความยาวผนังห้อง จะเป็นเซนติเมตร นิ้ว ฟุต หรือเมตร ให้นำสูตรที่ให้มาคูณเข้าไป ข้อสำคัญคือต้องให้หน่วยวัดนั้น ๆ เหมือนกันทุกด้านคือถ้าใช้เซนติเมตร ก็ต้องเป็นเซนติเมตรทุกด้านตัวเลขที่คูณออกมาได้คือระยะที่เราจะตั้งลำโพงนั่นเองครับ

- ระยะลำโพงกับผนังด้านข้าง : ความยาวผนังด้านข้าง x .276

- ระยะลำโพงกับผนังด้านหลัง : ความยาวผนังด้านหลัง x .447

ตัวอย่างเช่นผนังด้านข้างยาว 6 เมตร เรานำ 6 มาคูณกับ .276 จะได้ตัวเลข 1.65 หมายความว่าระยะลำโพงด้านข้างวัดจากทวิตเตอร์จะห่างกำแพงด้านข้างประมาณ 1.65 เมตร

ส่วนผนังด้านหลังยาว 4.5 เมตร เรานำตัวเลข 4.5 มาคูณ .447 จะได้ตัวเลข 2.01 หมายความว่าระยะลำโพงด้านหลังวัดจากทวิตเตอร์จะห่างกำแพงด้านหลังประมาณ 2.01 เมตร นั่นเอง

สังเกตได้ว่าระยะห่างกำแพงด้านหลังนั้นลำโพงตั้งห่างถึงสองเมตรเศษ ๆ การตั้งห่างกำแพงด้านหลังจะทำให้เกิดมิติเสียงและเวทีเสียงที่เราสามารถจับต้องได้ ขณะที่ความห่างระหว่างลำโพงกับผนังข้างจะก่อให้เกิดขนาดของเวทีเสียง ทั้งนี้ผู้ฟังต้อง จูนเสียงด้วยการฟังในขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีสูตรให้เราจัดวางแล้วก็ตาม แต่หูของคนฟังก็ยังจำเป็นในการตั้งลำโพง ส่วนระยะการนั่งฟังนั้น จะเป็นการกำหนดเป็นการนั่งฟังแบบ"ใกล้ลำโพง" (Near Field) เราจะวัดระยะทวิตเตอร์จากลำโพงซ้ายมาที่ลำโพงขวา เมื่อได้ระยะห่างลำโพงทั้งสองข้างแล้วเราจึงนำระยะห่างลำโพงทั้งสองข้างมาวัดระยะไปยังจุดนั่งฟังก็จะได้ระยะในแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจูนเสียงจากการฟังอีกรอบเช่นเดียวกัน

ท่านผู้อ่านอาจลองกลับไปทำดูนะครับ ผมเชื่อว่าการจัดลำโพงนั้นได้ผลมากกว่าการเปลี่ยนสายลำโพงหรือสายสัญญาณมาก ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าคุณภาพสายลำโพง หรือสายสัญญาณ ไม่มีผลต่อเสียงมีผลเช่นกันครับ แต่การ Set Up ลำโพงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงในการทำให้เราเค้นคุณภาพของเครื่องเสียงที่เรามีให้ถึงที่สุด และที่ผมเน้นบ่อยครั้งก็คือเราต้องฟังเสียงและจูนเสียงด้วยหูเราเองอีกรอบหนึ่ง เพราะสูตรเป็นแค่แนวทางให้เราไม่ต้องงมเข็มในมหาสมุทร
แม้เครื่องมือเป็นสิ่งทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสูตรสำเร็จเมื่อทำแล้วจะได้ผล 100% หากแต่ความสำเร็จของผลที่เราทำนั้นมาจากการหมั่นเพียร ความพยายาม การจดจำ และเรียนรู้อย่างไม่รู้จบโดยเปิดใจกว้างรับสิ่งใหม่ ๆ อย่างมีเหตุผลนั่นเอง...

*ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการฟังเพลงโปรด โดยการจัดเครื่องเสียงของท่านเอง(..รู้สึกดีกว่าเพราะเราทำเอง..)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น