ผู้เยี่ยมชม

วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

คุยเฟื่อง Hi-Fi คำศัพท์ในเรื่องของเสียง


วันนี้ ผมมีบทความที่น่ารู้ เกี่ยวกับเรื่องของการฟังเพลงที่น่าสนใจเป็น อย่างยิ่ง คิดว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับการฟังเพลงไม่มาก ก็น้อยนะครับ ทุก ๆ ท่านก็ลองอ่านดูนะครับ

..Soundstage..

Soundstage ( ซาวนด์เสตจ ) คืออะไร ? ในหนังสือส่วนใหญ่มักจะเขียนไว้ว่า อาณาเขตโดยรอบที่อิมเมจหรือตัวเสียงทั้งหมดเรียงตัวอยู่ในอากาศ

จริงๆแล้ว Soundstage นั้นหมายถึง สุดขอบที่ชิ้นดนตรีจะสามารถเล่นได้ถึง หรือ แสดงเสียงได้ถึงนั่นเอง อาจจะฟังดูงงๆอยู่ ถ้าจะให้ง่ายกว่านี้ ให้ลองหยิบหูฟังขึ้นมา แล้วลองฟังดู ตำแหน่งของเสียงที่ไกลที่สุดที่ได้ยินจากหูฟัง นั่นแหละค่ะคือระยะของsoundstage

โดยปรกติแล้ว Soundstage จะถูกแบ่งแยกออกเป็น 2 อย่างคือ

- Soundstage ด้านกว้าง
- Soundstage ด้านลึก

แล้วมันต่างกันยังไงล่ะ??

คือ Soundstage ด้านกว้างเนี่ย จะหมายถึง ความกว้างของเสียงที่ออกไปทางด้านซ้ายและขวา ลองหยิบหูฟังขึ้นมาฟังอีกทีครับ

ทีนี้เปิดเพลงนะครับ แล้วลองกางแขนออกกว้างๆเลยครับ นั่นแหละครับ soundstage ด้านกว้าง ทั้งนี้ soundstage ด้านกว้างสำหรับหูฟังนั้น มักจะถูกเรียกรวมว่าเป็น Soundstage เฉยๆ ครับ ส่วน Soundstage ด้านลึกจะถูกเรียกเป็นมิติแทนครับ เนื่องจากหูฟังไม่สามารถจับ Transparency หรือความโปร่งใสได้เหมือนกับลำโพงครับ ผมมีความเห็นว่าควรจะเรียกรวมไปเลยเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนต่อคนฟัง ด้วย

ส่วน Soundstage ด้านลึก นั้น จะหมายถึง เสียงชิ้นดนตรีที่ไกลที่สุดที่ได้ยินจากข้างบนหัวของเรา หรือก็คือ มิติของเสียงกลางนั่นเอง Soundstage ด้านลึกที่ดีจะสามารถแยกให้เห็นชิ้นดนตรีได้ชัดเจน ไม่มีการตีกันให้พร่ามัวจนสัมผัสเสียงของดนตรีแต่ละชิ้นไม่ได้

Soundstage อาจจะถูกถามเป็นประเด็นแรก เพราะถ้าหูฟังที่ให้ Soundstage ดีๆ ก็ย่อมจะให้มิติของชิ้นดนตรีที่ดีตามไปด้วยครับ แต่ข้อเสียของหูฟังที่ Soundstage กว้างๆ ก็จะอยู่ที่การให้ Dynamic(เสียงโน้ตจากต่ำ-สูงของชิ้นดนตรี)ที่ไม่อิ่มเท่ากับหูฟังที่ Soundstage อยู่ในขอบเขตไม่กว้างขวางนัก เนื่องจากเป็นข้อจำกัดทางด้านเทคนิคครับ

..เสียงกลาง ( Mid , Mids , Mid-Range , Middle )..

เป็นตำแหน่งเสียงซึ่งจะอยู่ตรงช่วงจุดตัดของค่ารวมทั้งหมดของระยะ soundstage และ มิติเสียงกลาง

* ดิฟิวเซอร์คือแผงที่มีขึ้นเพื่อเคลียร์คลื่นเสียงไม่ให้สะท้อนออกไปในปริมาณ ที่มากเกินไป ลักษณะจะเป็นแผงเหมือนชั้นหนังสือครับ แต่จะเป็นแนวกระดานแบบเส้นตรงไม่ใช่แนวนอนเหมือนชั้นหนังสือ แล้วจะวางไว้ค่อนข้างชิดกัน แต่ก็จะมีระยะห่างที่พอควร โดยปรกติจะเป็นที่นิยมมากกว่าพวก absorb ( absorb จะเป็นตัวดูดซับสัญญานครับ ทำหน้าที่เหมือนดิฟิวเซอร์ แต่ถ้าติดมากเกินไปจะทำให้เสียงที่ได้รู้สึกอับๆ ครับ )

..อิมเมจ ( Image )..

อิมเมจ คือ ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นที่เราสามารถรับรู้และจับต้องได้ครับ ไม่ใช่เอามือไปหยิบได้นะครับ หมายถึงว่า ฟังแล้วรู้น่ะครับว่าเป็นเครื่องดนตรีอะไร ถ้าในเรื่องของเครื่องเสียงนั้น คำว่า Image จะครอบคลุมไปถึงขนาดของชิ้นดนตรีทีเดียวเชียวครับ เพราะ image ที่ดีของเครื่องเสียงนั้น นอกจากจะฟังชัด สัมผัสได้ เห็นชัดเจน ( ในมโนภาพ ) แล้ว ยังต้องให้ความรู้สึกเป็นชิ้นเป็นอันเป็นสามมิติ และมีขนาดของชิ้นดนตรีที่เท่าเทียมของจริงทีเดียว ว่าเข้าไปนั่น แต่ถ้าเคยเล่นพวกเครื่องเสียง Hi-Fi มา แล้ว set ตำแหน่งได้ดีๆ รับรองครับ จะได้สัมผัสสิ่งที่บอกมาหมดเลย

แต่ด้วยข้อจำกัดของในกรณีหูฟัง ดังนั้นเลยต้องตัดขนาดของชิ้นดนตรีออก เพราะฟังให้ตายยังไงมันก็ไม่ได้ขนาดเท่าของจริงอยู่แล้วล่ะครับ เอาแค่สามารถจับได้ว่าเป็นชิ้นดนตรีอะไรก็เพียงพอแล้วครับ Image ยังครอบคลุมไปถึงเรื่องของเสียงเบสด้วยนะครับ ซึ่งไม่ได้เป้นเสียงเบสจากกีต้าร์เบสอย่างเดียว แต่จะสามารถพูดถึงเสียงโทนต่ำที่ให้ Power ของเบสโดยรวมทีเดียวครับ

ดังนั้นสรุปเลยครับว่า Image หมายถึง ภาพพจน์ ภาพลักษณ์ที่สามารถสัมผัสได้ จับต้องได้ (ทางใจ) ซึ่งต้องเห็นเป็นชิ้นเป็นอันของดนตรีได้เลยครับ

แล้วเสียงกลางมันคืออะไรกันล่ะ ถ้าพูดกันง่ายๆภาษาบ้านๆนะครับ เสียงกลางก็คือ เสียงที่อยู่ตรงกลางนั่นแหละครับ เสียงทั้งหมดที่อยู่แถว Zone กลางของหน้าเราเวลาฟังเพลงเนี่ยแหละครับเสียงกลาง สาเหตุที่เป็นแบบนั้นเพราะว่า เสียงที่ไต่ระดับอยู่ที่ 100Hz-3KHz หรือ 160-1,500 Hz ที่เป็นช่วงของเสียงที่ให้ระดับเสียงกลางๆนั้น โดยมากจะเป็นเสียงร้องครับ จริงๆ ชิ้นดนตรีอื่นๆก็มีโทนเสียงในระดับกลางเช่นกัน แต่เสียงร้องมักจะถูกนำมาวางไว้ตรงกลางมากที่สุดครับ ดังนั้นถ้าจะให้เข้าใจง่ายๆ เสียงกลางคือเสียงตรงกลาง ที่ไม่ใช่เสียงสูง หรือเสียงต่ำอย่างเบสครับ ต้องเป็นเสียงที่ให้โทนกลางๆ เลยครับ ก็ให้จำไว้ว่า เสียงกลาง นอกจากไม่สูงไม่ต่ำแล้ว ส่วนใหญ่จะมาอยู่กันช่วงกลางๆ เลยครับ

และด้วยเหตุผลที่เสียงกลางโดยมากจะเป็นเสียงร้อง ดังนั้นจึงมีคำขยายเพื่ออธิบายของเสียงกลางอีกครับ โดยแบ่งเป็น

ขึ้นจมูก( NASAL ) ลองนึกภาพคนเป็นหวัด หรือเวลาเราบีบจมูกแล้วพูดออกมาดูครับ เสียงขึ้นจมูกของเสียงกลางจะออกเป็นลักษณะแบบนั้น เสียงจะอู้ๆ ก้องๆ ฟังแล้วไม่รู้เรื่องเลยครับ

เจิดจ้า , เด่น , พุ่ง หมายถึงอาการของเสียงกลางที่จะโดดนำเสียงอื่นๆ ออกมาเลยครับ กลายเป็นว่าเสียงอื่นๆ ฟังดูด้อยไป เล่นเอา balance เสียไปหมดเลยครับ

Chesty คือ เสียงจากอกจะหมายถึงเสียงร้องที่มีขนาดใหญ่ผิดปรกติ ประหนึ่งว่านักร้องท่านนั้นมีปอดแบบไม่ธรรมดา จนกลายเป็นว่าช่วงความถี่กลางต่ำ ( ประมาณ 250Hz-125Hz ) ถูกอัดขยายขึ้นมาเด่นมากจนกินย่านอื่นไปซะส่วนใหญ่ เสียงร้องอย่างเสียงผู้ชายเลยจะออกห้าวๆ ลึกๆ เกินจริง แต่มันก็จะให้รู้สึกว่าเสียงกลางอวบและอิ่ม ฟังดูมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้นครับ บางท่านก็จะชอบแบบนี้

เสียงโปร่ง ก็ คืออาการของเสียงที่ฟังแล้วรู้สึกว่าโล่ง โปร่ง สบาย ฟังแล้วไม่รู้สึกอับเหมือนอยู่ในห้องแคบๆ โดยมากเสียงโปร่งๆจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ ไม่มีเสียงอื่นเสียงใดมารบกวนเสียงที่เรากำลังรับชม เพราะลักษณะของคลื่นเสียงจากลำโพงที่ตรงเข้ามาหาเราจะไม่ถูกรบกวนด้วยคลื่น เสียงจากที่อื่น เมื่อใดก็ตามที่มีคลื่นเสียงอื่นนอกเหนือจากเสียงที่มาจากลำโพงตรงๆ ไม่ว่าจะด้วยอคูสติคของห้องที่ไม่ดี ไม่มีแผงดิฟิวเซอร์* หรือใช้ absorb มากเกินไป เรียกว่าใส่ซะจนเป็นห้องอัดเสียงใน Studio เหล่านี้ จะทำให้สัญญาณเสียงเปลี่ยนไปหมด ในแง่ของหูฟัง ในเรื่องของความโปร่งนั้นจะขึ้นอยู่กับบุคลิกของหูฟัง และลำโพง ครับ

..ไดนามิค-คอนทราสต์ ( Dynamic-Contrast )..

คำนี้อาจจะได้ยินไม่ค่อยบ่อยนักสำหรับนักเล่นหูฟังทั่วๆไป เพราะไม่ค่อยจะมีคนพูดถึงกันซักเท่าไหร่นัก เนื่องจากส่วนมากมักจะฟังเพลงแนวสไตล์ร๊อค หรือไม่ก็เพลงป๊อป การจับไดนามิค-คอนทราสต์จึงจับได้ยากพอสมควร

แล้วมันหมายถึงอะไรล่ะ จริงๆมันหมายถึง การไต่ระดับเสียงของดนตรีที่ไล่ไปอย่างต่อเนื่องและละเอียดอ่อน ยกตัวอย่างง่ายๆก็พวกดนตรีประเภทสี อย่าง อืมม.. เอาเป็นไวโอลีนแล้วกันครับ คือจังหวะการสีของไวโอลีนเพลงช้าๆ เวลาสีแล้วถอนคันชักช้าๆ เราก็จะได้ยินเสียงไล่โทนจากเสียงที่หนักแล้วก็ค่อยเบา เบา ไล่ตามจังหวะการสี ถ้าไดนามิค-คอนทราสต์ดีๆ จะรับรู้ถึงจังหวะการบิดข้อมือช่วงที่สีด้วยครับ เพราะมันจะมีการไล่โทนเสียงที่ชัดเจนจนรับรู้ได้เลยครับ ถ้านึกภาพไม่ออกก็ลองดูที่ดนตรีประเภทเป่าอย่าง ขลุ่ย หรือ ฟลุ๊ท ก็ได้ครับ เวลามีเสียงขลุ่ย หรือ ฟลุ๊ทดังขึ้น ( เพลงช้าๆจะชัดหน่อยครับ ) เสียงจะเลียดไล่ค่อยๆดังขึ้นจนสุด จากนั้นก็จะมีเสียงผ่อนถอนไล่ตามลงมาเบาๆ แล้วสูดลมหายใจช้าๆลึกๆ เพื่อเตรียมปลดปล่อยอารมณ์ของเสียงดันอัดเข้าไปในขลุ่ยอีกครั้ง จังหวะที่ปริมาณเสียงที่ลดลงไล่ต่อเนื่องสุดแสนจะ smooth นี่แหละครับ ไดนามิค-คอนทราสต์ แน่นอน ถ้ามีการกระโชก หรือการกระโดดของเสียง อย่างเช่น เสียงที่กำลังสีซออยู่ พอเข้าช่วงจังหวะถอนคันชักเตรียมจะโยกกดเบียดคันลงเข้าที่เส้นสายแล้วปรากฏ ว่า เสียงของจังหวะถอนคันมันบางเบาจนบางทีแทบไม่รู้เรื่อง อันนั้นเรียกว่า ไดนามิค-คอนทราสต์ไม่ดีครับ ส่วนมากจะเกิดกับลำโพงหรือหูฟังที่ยังเบิร์นไม่ได้ที่ และกับหูฟังหรือลำโพงคุณภาพไม่ดีครับ

..ไดนามิค-ทรานเชี้ยนต์ ( Dynamic-transient )..

สำหรับไดนามิค-ทรานเชี้ยนต์นั้น บางทีจะมาคู่กับไดนามิค-คอนทราสต์ครับ บางท่านจะสับสนเรียกรวมทั้งได้นามิค-คอนทราสต์และทรานเชี้ยนต์รวมๆ กันไปเลย ครับ เพราะว่า ความหมายมันก็ถือว่าใกล้ๆ กันมาก แล้วดนตรีบางชิ้นก็ให้ทั้งไดนามิค-คอนทราสต์และทรานเชี้ยนต์ที่ชัดเจนเลยครับ

ไดนามิค-ทรานเชี้ยนต์คืออะไร ? ตัวทรานเชี้ยนต์นั้นหมายถึงการที่ระดับเสียงเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วสั้นๆ จากเบาสุดไปดังสุด จากจุดต่ำสุดไปจุด peak อย่าง เช่นจังหวะตีกลอง หรือเคาะ เป็นต้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็อย่างเช่นเสียงระเบิดน่ะครับ จากเสียงเงียบๆ อยู่ๆก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นตูม!... ซึ่งสปีดการตอบสนองที่ดีของไดนามิค-ทรานเชี้ยนส์จะต้องไวสมจริง ถ้าเกิดไดนามิค-ทรานเชี้ยนต์ไม่ดี แต่ไดนามิค-คอนทราสต์ดันดี คุณจะได้ยินเสียงระเบิดค่อยๆไล่สเตปอืดๆ ช้าๆ.. เช่น... ตต..ตตต....ตู..ตูม ตูมมมมมม มูมมม มุมมม มุม มุม... เรียกว่าอืดเป็นเรือเกลือเลยครับ อันนี้ยกตัวอย่างให้เห็นชัดๆ โดยมากจังหวะของไดนามิค-ทรานเชี้ยนต์ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับ จะมีบางทีก็กับหูฟังหรือลำโพงที่ชอบแถมเบสเยอะๆ บางทีจะเก็บตัวช้าจนทำให้ไปกวนเสียงกลางเสียงอื่น ผลคือชิ้นดนตรีฟังจับ image ไม่ได้เลยครับ เสียงตีกันปนกันมั่วไปหมด ดังนั้น ไดนามิค-ทรานชี้ยนต์ที่ดีจะทำให้ชิ้นดนตรีมีความกระชับ ไม่ทิ้งเสียงเอื่อยเฉื่อยจนฟังแล้วดูอืดๆ หรือ จังหวะช้าจนไปตีรวนชิ้นดนตรีอื่นๆ ครับ

..อิมแพค ( Impact )..

จริงๆ แล้วความหมายของ impact หมายถึง ต้นเสียงแรกที่มาถึงหูของเราครับ ฟังแล้วเหมือนจะงงๆ ปรกติในวงการนักเล่นเครื่องเสียงเค้ามักจะใช้คำว่า "หัวเสียง" ครับ ซึ่ง "หัวเสียง" มีส่วนสำคัญในการจำแนกชิ้นดนตรี ๆมากเลยครับ เพราะขนาดของ "หัวเสียง" หรือ impact ของแต่ละชิ้นดนตรีจะต้องไม่เท่ากันครับ มวลที่ได้ต้องต่างกัน เช่น เสียงกระแทกกลอง หัวเสียงต้องเป็นมวลที่มีขนาดที่ใหญ่กว่าการเคาะแฉ ซึ่งหัวเสียงของกลองจะต้องมาถึงหูเราช้ากว่าแฉ เพราะเป็นเสียงโทนต่ำ ถ้าเกิดมาถึงไวกว่า มิติเสียงดนตรีจะเพี้ยนทันทีเลยครับ และถ้าขนาดของหัวเสียงเท่ากันไปหมด ก็จะทำให้ชิ้นดนตรีมีสัดส่วนพิลึกทันทีเลยครับ จะขาดความเป็นธรรมชาติลงไปในทันที

..ความใส ( Transparency )..

ในทางเครื่องเสียงแล้ว Tranparency จะหมายถึงความใสที่ลำโพงสร้างขึ้นมา ทำให้สามารถมองทะลุผ่านหลังแผงดิฟิวเซอร์เข้าไปได้เลยครับ เสมือนว่ามีเวทีจำลองตั้งอยู่ในดีฟิวเซอร์จนมองเห็น Image ชัดเจนแจ่มแจ้งเหมือนเราไปชมคอนเสิร์ตจริงๆทีเดียวครับ ถ้าในทางหูฟังหรือลำโพงก็หมายถึงหูฟังหรือลำโพงนั้น ใส จนจับ image ได้ชัดครับ ไม่มีอาการขุ่นมัวแบบมีม่านบางๆ มีบังๆ จนจับ image ได้ไม่ชัดเจนเลยน่ะครับ

..Airy ( Ambient )..

จริงๆ Airy กับ Ambient มีความหมายคล้ายๆกันครับ ถ้าว่ากันตามหลักการแล้ว Ambient จะหมายถึง การสะท้อนของเสียงที่เกิดตามสภาพแวดล้อมนั้นๆ เช่น เวลาอยู่ในห้องแคบๆแล้วเราพูดออกมา เสียงสะท้อนที่เกิดขึ้นจะถูกเรียกว่า Ambient ครับ ลักษณะของเสียงเกิดขึ้นจะมีทั้ง "เสียงรีเวิร์บ" และ " เสียงเอคโค่" ครับ

ถ้าจะให้อธิบายกันให้ละเอียด ลักษณะแบบ airy หรือ ambient ก็คือความรู้สึกที่เหมือนมีเสียงก้องสะท้อนเบาๆ ตามลักษณะอะคูสติกของห้อง เสียงเหล่านั้นจะทำให้เรารู้สึกว่ามันเปิดกว้าง โล่ง โปร่ง นั่นแหละครับ ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นจะให้ความรู้สึกว่ามีมวลอากาศห่อหุ้มอยู่ ถ้าไม่เคยฟังอาจจะนึกภาพตามไม่ออกนะครับ คือ อย่างจังหวะการสีไวโอลีน ถ้าห้องมีอะคูสติคที่ดี และมีการ set ลำโพงที่ได้ตำแหน่งถูกต้อง เราจะรับความรู้สึกได้เลยว่า นักดนตรีที่กำลังสีไวโอลีนตรงหน้าเหมือนมีมวลอากาศห่อหุ้มและลื่นไหลไปตาม จังหวะของการสี ลักษณะเหล่านั้นเรามักเรียกกันว่า ชิ้นดนตรีมีแอมเบี๊ยนต์ห่อหุ้มอยู่

นอกจากนี้ ถ้าพูดถึง airy ก็จะหมายถึงชิ้นดนตรีที่ให้ความรู้สึกเปิดโล่ง ให้อารมณ์เหมือนมีอากาศรอดผ่านไหลเวียนในแต่ละชิ้นดนตรีครับ การมี airy หรือ ambient จะทำให้เราสัมผัสชิ้นดนตรีได้ชัดเจนมากขึ้น และยังให้ความรู้สึกถึงชีวิตชีวา หรือ live ของดนตรีอีกด้วยครับ

..Blassy..

ลักษณะของเสียงที่ออกจะเน้นไปทางเสียงด้านความถี่ต่ำมากกว่าเสียงกลางและ เสียงแหลม ครับ เวลาฟังจะรู้สึกว่าเสียงทุ้มๆจะดังล้ำหน้าเสียงอื่นๆเลยครับ

..Blanketed..

อันนี้หมายถึงเสียงที่อับ ทึบ เสียงแหลมโดนเกลาจนมน ไม่ใสกังวาล คล้ายๆกับเอาผ้าหนาๆ มาบังลำโพงไว้ทำให้เสียงแหลมโดนบดบังซะเสียรูปเลยครับ

..Bloated..

เป็นอาการที่จะได้ยินก็ต่อเมื่อมีการให้ปริมาณของเสียงย่านความถี่ต่ำใน ช่วงของ Mid-Bass ( ช่วงประมาณ 250Hz ครับ ) มากจนเกินไป ทำให้เกิดเสียงทุ้มที่ไม่กระชับฉับไว เก็บตัวช้า เสียงจะสั่นไม่นิ่ง จนรู้สึกว่าเสียงดนตรีในย่านนั้นจะเบลอไม่คม

..Blurred..

เป็นอาการที่ตอบสนองความเร็วฉับพลันได้ไม่ดีครับ เสียงจะพร่าเลือน การโฟกัสมัวไม่ตรง ชิ้นดนตรีแต่ละชิ้นจะขาดความคมชัด เสียงกลางแทบจะจับไม่ได้เลยครับ เพราะมันจะมัวมาก ( จริงๆไม่เห็นต้องอธิบายเลยเนอะครับ เบลอ นี่ใครๆก็รู้ ฮิฮิ )

..Boomy..

อันนี้จะเหมือน Bloated ครับ เพียงแต่จะเกิดขึ้นในย่านความถี่ต่ำกว่า Bloated ค่ะ คือจะเกิดในช่วง Lower-Bass ครับ ( ประมาณช่วง 125Hz) ถ้ามีทั้ง Boomy และ Bloated เกิดขึ้นพร้อมกัน เราจะเรียกว่า บวม อืด ครับ

..Boxy..

ส่วนมากจะเกิดกับลำโพงครับ เพราะลำโพงบางตัวออกแบบภายในไว้ไม่ดี ทำให้มีเสียงสะท้อนก้องภายในตู้ลำโพงออกมาปนกับเสียงดนตรี ทำให้เวลาฟังแล้วรู้สึกเสียงดังอู้ๆ ชวนให้หงุดหงิดครับ

..Harmonic..

ฮาร์โมนิคที่ใช้กันเยอะแยะนี่มันคืออะไรกันแน่น้า คืองี้ครับ เวลาเล่นดนตรีเนี่ย จะมีหลายๆครั้งที่มีชิ้นดนตรีที่เล่นตัวโน้ตเดียวกัน หรือ มีนักร้องสองคนขึ้นไป ที่เสียงร้องไปอยู่ที่ย่านความถี่เดียวกัน แต่ เราสามารถแยกออกได้ว่าเป็นเสียงใครร้องบ้าง และรับรู้ได้ว่าชิ้นดนตรีนั้นๆ เป็นเชลโล่ หรือ ไวโอลีน ที่เรียกกันว่า "โอเวอร์โทน" นั่นก็เพราะผลพวงจาก ฮาร์โมนิค เนี่ยแหละครับ

ฮาร์โมนิคนั้น จริงๆมันก็คือ ผลคูณของเลขจำนวนเต็มๆเลยของฮาร์โมนิคที่หนึ่ง (1st Harmonic ) หรืออีกชื่อที่เรียกกันว่า Fundamental Harmonic ที่หมายถึงความถี่พื้นฐานนั่นเองครับ ความถี่พื้นฐานก็พวก 2000Hz , 250Hz น่ะครับ ทีนี้พอมี Harmonic เข้ามาเกี่ยวข้อง เมื่อเราพูดถึง Harmonic ที่สอง มันก็จะต้องกลายเป็น

ความถี่พื้นฐาน X 2 เช่น 2000hz X 2 = 4000hz เป็นต้น

พอ เป็น Harmonic ที่สามก็จะกลายเป็น X ด้วย 3 และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆใน Harmonic ที่สี่ ห้า... ทีนี่เมื่อมีการคูณฮาร์โมนิคสูงขึ้นไปเรื่อยๆก็จะทำให้แรงต่อสัญญาน หรือความแรงต่อสัญญาน ( Amplitude ) ลดลงจนเริ่มจับสัญญานเสียงของ Harmonic ที่ไปไกลๆ เรื่อยๆไม่ได้

ดังนั้นถ้าจะให้สรุปสั้นๆ Harmonic ก็คือ สัญญานเสียงที่อยู่ในรูป Sinewave ให้เราตีค่าเป็นความถี่ได้นั่นเองครับ

..Distortion..

จะหมายถึงความเพี้ยนของสัญญานของกระแสครับ

ดังนั้น

..Harmonic Distortion.. เลยจะหมายถึง อัตราความเพี้ยนของกระแสสัญญานเสียงครับ

..THD ( Total Harmonic Distortion )..

ตัว THD จะหมายถึง ความเพี้ยนของกระแสสัญญานโดยรวมที่เกิดขึ้นทั้งระบบครับ โดยมากจะเป็นการวัดในภาคของ Output หรือกระแสขาออกนั่นเองครับ

ค่า THD มีผลสำคัญในเรื่องของเครื่องเสียงเป็นอย่างมากครับ ยิ่งค่า THD สูง ก็จะให้ความเพี้ยนของสัญญานเสียงด้วยเช่นเดียวกัน อัตราค่าของ THD จะถูกระบุไว้เป็นเปอร์เซนต์ และ อัตราของ THD ที่วงการระดับ Hi-Fi สามารถยอมรับได้จะอยู่ที่ 0.08% ลงไปครับ

ทีนี้ความสำคัญของ THD อยู่ตรงไหน ?

คืออย่างงี้ครับ โดยปรกติแล้ว กำลัง WATT นั้น โดยทั่วไปมักจะวัดค่ากันที่ 8 Ohms เพราะเป็นค่าความต้านทานของลำโพงในระดับที่ขายกันทั่วๆไปค่ะ เรียกว่าเป็นค่ากลางได้เลยครับ ทีนี้ ปัญหาก็มามีอยู่ว่า คนเราเวลาจะซื้อ amplifier เนี่ย ก็จะมองกันที่กำลังขับกันไว้ก่อนเป็นส่วนใหญ่ ยิ่งขับได้สูงๆคนก็จะยิ่งเลือกไว้ก่อน เพราะกำลังขับสูงๆจะอัด Dynamic-Range ได้มากกว่าพวกกำลังขับต่ำๆ แล้วยิ่งได้เจอกับลำโพงโหดๆที่ขับยากๆอย่างลำโพงที่มีอัตรา Sensitivity ที่ประมาณ 80 กว่าๆ แล้วยังเป็นลำโพงแบบ Accoustic Suspension ที่เป็นระบบตู้ปิดอีก ทำให้กินกำลังวัตต์ค่อนข้างมาก คนเลยพากันซื้อ Amp ที่ให้กำลังขับสูงๆไว้ก่อนครับ

ทีนี้เจอแบบนี้เข้าไป พวกคนขายก็ย่อมขายของไม่ได้ ครั้นจะโกงบอกเลขกำลังวัตต์มั่วๆ ก็จะให้เสียน้ำใจจนขายของไม่ได้ ดังนั้น เค้าจะใช้วิธีเลี่ยงง่ายๆ โดยการแสดงค่าตัวเลขกำลังวัตต์ที่ระดับ Ohms ต่ำลง เช่น

Amp ของ Magola Stat ปรกติให้กำลัง 20 Watts Perchannel ที่ 8 โอห์ม ทางนั้นก็จะเปลี่ยน SPEC มาเป็น

Amp ที่ให้กำลังวัตต์ 40 Watts (RMS )โดยอาจจะเติมตัวเลขๆที่มุมซองว่า at 4 ohms (RMS ) หรืออาจจะน่าเกลียดโดยเปลี่ยนตัวเลขเป็น 70 Watts (RMS) แทน แล้วเปลี่ยนตัวเลขมุมซองใหม่เป็น at 2 Ohms แทนครับ

ทีนี้ แค่นี้ยังไม่พอครับ เพราะเริ่มมีคนจับได้ว่าแกเล่นแอบๆใส่ Ohms ต่ำๆ แกก็เปลี่ยนเทคนิคใหม่ครับ โดยการเปลี่ยนวิธีการโชว์ตัวเลขใหม่เป็น

Amp Magola Stat ให้กำลังขับที่ 100 Watts Perchannel ที่ 8 โอห์มด้วย แต่ มี 10% THD แถมท้าย

หมายความว่า ถ้าแอมป์ตัวนี้ส่งกำลังขับไปที่ 100 Watts เมื่อไหร่ สัญญานเสียงจะเพี้ยนทันที 10% ครับ กลายเป็นว่าเป็นวัตต์หลอกตากันอีกแล้ว ซึ่ง อัตรา THD สูงๆ แบบนี้โดยมากจะเห็นในเครื่องเล่นแบบ Mini Component ที่ชอบใส่ค่าของ PMPO หรือ วัตต์เทียมนั่นแหละครับ

ดังนั้นเวลาเลือก ชุดเครื่องเสียงแต่ละครั้ง อย่าลืมดูค่า THD ที่เสมอนะครับ และดูกำลัง วัตต์ต่อ Channel ที่วัดค่ากันที่ 8 ohms ด้วยครับ..

..ขอนำเสนอเท่านี้ก่อน และนำมาคุยกันต่อเพิ่มเติมในบทความหน้านะครับ (เดี๋ยวจะอ่านกันเหนื่อยซะก่อน) ครับ..

วันเสาร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2552

P.M.P.O กับ R.M.S ต่างกันอย่างไร?


เราอาจเห็นบ่อยๆ ว่าเครื่องเสียงจะมีโฆษณากำลังวัตต์ที่ต่างกัน โดยตัวเลขยิ่งมากตามหลักก็น่าจะมีเสียงที่ดังดีกว่า วัดจากกำลังวัตต์ แต่ จะเอ่ะใจ กับ กำลังวัตต์ที่แสดงมีทั้ง P.M.P.O และ R.M.S ซึ่งทั้ง 2 ตัวเลขนี้ต่างกันอย่างไร?

ถ้าเป็นเครื่องเสียง พลังงาน หมายถึง กำลังขับ

P.M.P.O = Peak Music Power Output จะวัดว่า เครื่องขยายเสียง สามารถอัดกำลังขับออกได้สูงสุดเท่าไหร่ ในเวลา 10/1000 วินาที (10/1000 หรือ 10 millisec เป็นช่วงที่โน้ต 1 ตัว ของเครื่องดนตรีชิ้นเดี่ยวๆ ส่วนใหญ่ ดังขึ้นมา)
พูดได้ว่าวัดวัตต์สูงสุดจริงๆ ในช่วงพริบตา มากแค่ไหนนั่นเอง (P.M.P.O สูงๆ จะให้รายละเอียดเสียงด้านเสียงแหลม หรือเสียงที่กระชากจากเบาไปดังทันทีทันใด ได้ดีกว่า)

R.M.S = Root Mean Square วัดวัตต์เฉลี่ยที่ให้ต่อเนีองได้ (R.M.S สูงๆ จะให้ความดังโดยรวมได้ดีกว่า)

*เครื่องเสียงดีๆ ไม่ค่อยระบุ PMPO เพราะไม่จำเป็นครับ
**เครื่องเสียงชุดคอมโปมักมีระบุ PMPO ส่วนหนึ่งเพื่อลวง(ก็ไม่เชิงนัก..)คนซื้อว่าวัตต์สูงๆ เพราะคนซื้อส่วนนึงชอบความสะใจในตัวเลข ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้เลยว่าวัตต์ที่ระบุหมายถึงอะไร

ห้องประมาณขนาด 3x4 เมตร ถ้าใช้เครื่องเสียงที่ให้กำลังขับได้แค่ 10 วัตต์ RMS (เต็มๆ นะ) แล้วเปิดเต็มที่ทั้ง 10 วัตต์ ก็ดังหูแตกแล้วครับ

แต่ปัญหาก็คือว่าเครื่องคุณภาพปานกลาง หรือต่ำ เวลาเร่งความดังไปสูงๆ ใกล้ๆ กับวัตต์สูงสุด แล้วความเพี้ยนจะมากครับ คือมีแต่ความดัง แต่ไร้คุณภาพครับ เสียงดังแสบแก้วหู ไม่นุ่มนวล แข็งกระด้างครับ เหมาะสำหรับงานวัด งานชั่วครั้งชั่วคราว ไม่เหมาะกับการฟังอย่างมีความสุขครับ

ลองเปิดคู่มือเครื่องที่จะซื้อ แล้วหาดูว่ามีข้อมูลเรื่องความเพี้ยนอยู่รึเปล่า อย่างน้อยก็ควรมีตัวที่เรียกว่า THD ซึ่งควรน้อยกว่า 1% สำหรับเครื่องเสียงคุณภาพปานกลางนะครับ ถ้าไม่ระบุตัวนี้ให้สันนิษฐานก่อนว่ามีแต่ความดัง ไม่มีคุณภาพครับ

**ส่วนการแปลงค่า จาก P.M.P.O เป็น R.M.S นั้นก็ไม่ค่อยแน่นอน แล้วแต่ผู้ผลิตแต่ละยี่ห้อจะมีการคำนวณ P.M.P.O เมื่อมาแปลงเป็น R.M.S ได้ค่าก็ต่างกันอยู่ดีครับ ฉะนั้น เราไม่อาจเลือกจากกำลังวัตต์อย่างเดียวครับ ต้องลองเปิดฟัง หมุน volume แล้วฟังดูว่าเหมาะกับ ทั้งขนาดห้อง และบุคลิกเสียงที่ตรงใจเราหรือไม่ สำคัญที่สุดก็คือความพอใจครับ..

วันอาทิตย์ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ทำไมฟังเพลงในห้องติดแอร์จึงฟังเพราะกว่าปกติ ?


เป็นความรู้สึกที่ผมเองก็รู้สึกครับ ทุกครั้งเราฟังเพลงจากร้านอาหาร ร้านกาแฟ ในรถยนต์ ที่ส่วนใหญ่เป็นห้องติดแอร์ จะรู้สึกว่าเพลงที่ฟังเพราะมากมาย แต่พอกลับมาฟังที่บ้าน (ไม่มีแอร์)กลับฟังไม่เพราะเท่าซะทุกที

มีเหตุผลอยู่ครับ

.เนื่องจากห้องที่เราฟังต้องเป็นห้องปิด จึงจะทำให้ได้รับเสียงที่มีมิติ และที่เรียกว่า sound stage โดยไม่นับเสียงสะท้อนจากผนังนะครับ (แก้ไข โดยมีการบุผนังด้วยวัสดุซับเสียง ซี่งมีหลักการต่างหากครับ)

..เสียง เป็นคลื่นชนิดหนึ่ง เคลื่อนที่ผ่านตัวกลาง ในที่นี้คืออากาศในห้อง ซึ่งอุณหภูมิที่สูง และต่ำ มีผลต่อวัตถุในการขยายตัว หรือ หดตัว อากาศจะหดตัวเมื่ออุณหภูมิลดต่ำ ซึ่งมีผลต่อเสียงที่จะเคลื่อนที่ได้ช้าลง ตามหลักวิทยาศาสตร์ หรือพูดง่ายๆ ว่าเสียงจะไม่ฟุ้งกระจายในอากาศเย็น ทำให้ฟังเสียงเพลงได้ชัดเจน และนิ่งมากขึ้น

...อีกเหตุผลหนึ่ง คือ บรรยากาศที่เย็น มีผลต่อความรู้สึกสงบนิ่งมากกว่าร้อน จริงไหมครับ

วันเสาร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2552

การเซ็ตลำโพง


****นักเลงเครื่องเสียงส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ถ้าเครื่องเสียงดีมีราคาแพง เสียงที่ออกมานั้นต้องดี แต่ในโลกความจริงนั้นมักโหดร้าย เพราะเครื่องเสียงดี ๆ เมื่อฟังแล้วเสียงไม่ดีก็มีถมไปเพราะคนติดตั้งไม่เข้าใจเรื่องการเซ็ตอั๊พลำโพง ดังนั้นการขยับลำโพงเข้าหาจุดนั่งฟังทีละน้อย ๆ ถึงจะใช้เวลามาก แต่ผลที่ออกมาคิดว่าคุ้มกับหยาดเหงื่อและแรงงานเพราะเสียงที่ได้นั้นดีขึ้นผิดหูผิดตา แม้เครื่องที่ใช้นั้นไม่ใช่เครื่องราคาแพง ใช้สายสัญญาณสายลำโพงเส้นละหลายหมื่น ลองดูแล้วจะโดนใจ มิใช่น้อย

เมื่อศึกษาและจับประเด็นให้เล็กลงเรื่อย ๆ สิ่งที่พบกลับกลายเป็นเส้นผมบังภูเขาครับ เวลานี้ผมจึงฟันธงได้ว่าเครื่องเสียง เสียงจะดีหรือแย่อันดับแรกคือ

1. Matching กันหรือเปล่าระหว่างแอมป์กับลำโพงแต่ถ้าผ่านเรื่องนี้ไปแล้ว

2. Matching ระหว่าง System กับห้องฟัง

ข้อสองนี่แหละครับที่ยากเย็นแสนเข็ญสำหรับคนเล่นเครื่องเสียงที่อัฐน้อยแต่ต้องการเสียงที่ดีที่สุดแบบผม ครั้นจะทำห้องฟังเป็นสัดส่วนแบบบ้านมีอันจะกินก็ใช่ที่เพราะค่าทำห้องฟังก็ไม่ใช่ถูก ๆ ทางเลือกเดียวคือดัดแปลงห้องรับแขกหรือห้องนอนมาทำห้องฟังเพลง ซึ่งแทบจะไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่มขึ้นเลย นอกจากต้องขยันฟังและขยับลำโพงกันทีละนิดจนกว่าจะได้จุดที่ดีที่สุดครับ

แม้การขยับลำโพงเข้าออกทีละน้อยจะเป็นการงมเข็มในมหาสมุทรก็เป็นประสบการณ์ที่ทำให้เราได้เซ็ตติ้งลำโพงได้อย่างมีประสิทธิภาพนะครับ แรก ๆ อาจจะท้อแท้แต่บอกได้ว่ามันคุ้มค่ากับความเหนื่อยมากนัก ดีกว่าเราไปเสียเงินซื้อสายสัญญาณแพง ๆ หรือสายลำโพงแพง ๆ เสียอีก

หลักการแรก ก่อนที่จะทำการเซ็ตติ้งลำโพง ผมอยากให้ท่านผู้อ่านลองไปค้นคู่มือที่ติดมากับลำโพงมาอ่านเสียก่อน ส่วนใหญ่แล้วถ้าซื้อลำโพงจากค่ายยุโรปหรืออเมริกา มักจะมีคู่มือติดมาให้ด้วยว่าลำโพงรุ่นนั้น ๆ ชอบให้วางห่างผนังด้านหลัง หรือว่าชอบวางมาทางด้านหน้าเป็นต้น คู่มือของยี่ห้อนั้น ๆ จะทำให้เราจับหลักได้ง่ายขึ้นไม่ต้องเริ่มโดยไม่รู้ทิศทาง

หลักการที่สอง ขนาดลำโพงต้องสัมพันธ์กับห้องเช่น ลำโพงวางหิ้ง(ลำโพงเล็ก) ควรจะใช้ห้องไม่ใหญ่นัก ขนาดห้องอยู่ระหว่าง 12-20 ตารางเมตร ถ้าให้ดีควรจะเป็นห้องที่เป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้าส่วนลำโพงตั้งพื้น หรือลำโพงใหญ่ ควรจะต้องใช้เนื้อที่สัก 20 ตารางเมตรขึ้นไป ขณะเดียวกันความสูงของห้องก็มีผลกับย่านเสียงเช่นกัน ถามว่าทำไมลำโพงเล็กฟังห้องใหญ่ไม่ได้ที่จริงฟังได้นะครับ แต่มันไม่ Match กันนั่นเอง เช่นเดียวกับลำโพงใหญ่ไปฟังห้องเล็ก ๆ ความใหญ่ของลำโพงจะทำให้ย่านเสียงทุ้มที่มีปริมาณมากกลบทับเสียงกลางและเสียงแหลมจนฟังไม่ไพเราะ หรือถ้าใครชอบแบบนั้นก็ไม่มีปัญหานะครับแต่สำหรับผมแล้วการฟังเพลงจะต้องได้ทั้งเสียงทุ้ม กลาง แหลม ในปริมาณที่สมดุลกัน

หลักการที่สาม ขอให้สังเกตว่าลำโพงของเรานั้นมีท่อระบายลมทางด้านหน้าหรือหลัง ส่วนใหญ่แล้วลำโพงที่มีท่อระบายอากาศด้านหน้า เราสามารถวางตัวลำโพงให้ชิดกับผนังด้านหลังได้มากกว่าลำโพงที่มีท่อระบายลมจากด้านหลัง นั่นหมายความว่าถ้าเราวางลำโพงไว้ชิดผนังด้านหลังมากเท่าไหร่ เสียงเบสก็จะมากขึ้นเป็นเงาตามตัว

หลักการที่สี่ ผนังในห้องทั้งสี่ด้านรวมถึงพื้นห้องมีความสำคัญกับการกระจายเสียงมาก โดยเฉพาะผนังด้านหลังและผนังข้าง ผนังด้านข้างจะเป็น First Reflect ที่คลื่นเสียงจะกระทบก่อนจะถึงหูของผู้ฟัง การสะท้องของคลื่นเสียงจากผนังด้านหนึ่งไปด้านหนึ่ง ก่อนจะมาถึงหูคนฟังนั้นคลื่นบางความถี่จะตีกันจนฟังแล้วเสียงไม่เคลียร์ มีความสับสน ระยะห่างระหว่างลำโพงทั้งสองข้างกับระยะห่างจากผนังด้านหลัง จนไปถึงจุดนั่งฟังจึงมีความสัมพันธ์กัน

หลักการที่ห้า การวัดความกว้างยาวนั้นจะต้องเริ่มวัดจากจุดกึ่งกลางของทวิตเตอร์(ลำโพงดอกเสียงแหลม)เสมอไม่ว่าจะวัดความห่างจากผนังด้านหลังหรือด้านข้าง หรือวัดระยะห่างจากทวิตเตอร์ลำโพงสู่จุดนั่งฟัง

หลักการที่หก ควรจะ "โทอิน" กี่องศาดี การ"โทอิน" คือการหันหน้าลำโพงทำมุมเอียงเข้าหาจุดนั่งฟัง การจะโทอินกี่องศานั้นควรยึดคู่มือลำโพงเป็นหลัก หรือค่อย ๆ โทอินลำโพงทีละน้อยการโทอินจะทำให้โฟกัสดนตรีมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ผู้นั่งฟังจะต้องอยู่ในจุดที่เสียงไปรวมกันพอดี เราจะเรียกจุดนั่งฟังนี้ว่า Sweet Spot ลำโพงคอมเมอร์เชียลส่วนใหญ่จะชอบให้ผู้ฟังโทอินไม่มากก็น้อย แต่สำหรับลำโพง Full Range ที่ใช้ดอกลำโพงเดียวมักไม่ชอบการโทอิน ดังนั้นก่อนโทอินจึงต้องศึกษาคู่มือหรือทดลองฟังทีละน้อยก่อน

หลักการที่เจ็ด จะเริ่มต้นจัดตั้งลำโพงอย่างไร นี่เป็นข้อที่ยากที่สุดนะครับ แต่ก็น่าดีใจที่มีคนคิดสูตรการจัดตั้งลำโพงออกมาเป็นทฤษฎีให้เราได้ใช้กัน และทำให้ผู้เริ่มต้น เริ่มต้นอย่างถูกวิธีด้วยความสะดวกสบาย ผมขออิงทฤษฎีของ จอร์จ คาร์ดาส (George Cardas) ผู้ก่อตั้งสายสัญญาณสายลำโพง สายสัญญาณยี่ห้อดังอย่าง Cardas

จอร์จ คาร์ดาส ได้ทำสูตรการคำนวณตำแหน่งการจัดวางลำโพงออกมา ซึ่งทำให้เรานำไปใช้ในการจูนเสียงได้ง่ายขึ้น เมื่อใช้สูตรนี้คำนวณแล้วเราจะจูนเสียงโดยการฟังอีกรอบหนึ่ง เราก็จะได้ระยะลำโพงที่แมตซ์กับห้องฟังของเรา แม้จะไม่สมบูรณ์ที่สุดแต่ก็เป็นตัวเลือกที่จะทำให้เสียงของชุดเครื่องเสียงของท่านเสียงดีขึ้นโดยไม่ต้องเสียแม้แต่สตางค์เดียวในการอัพเกรด

สูตรที่จอร์จ คาร์ดาส ให้มามีดังนี้ วิธีการคำนวณก็คือวัดความยาวผนังห้อง จะเป็นเซนติเมตร นิ้ว ฟุต หรือเมตร ให้นำสูตรที่ให้มาคูณเข้าไป ข้อสำคัญคือต้องให้หน่วยวัดนั้น ๆ เหมือนกันทุกด้านคือถ้าใช้เซนติเมตร ก็ต้องเป็นเซนติเมตรทุกด้านตัวเลขที่คูณออกมาได้คือระยะที่เราจะตั้งลำโพงนั่นเองครับ

- ระยะลำโพงกับผนังด้านข้าง : ความยาวผนังด้านข้าง x .276

- ระยะลำโพงกับผนังด้านหลัง : ความยาวผนังด้านหลัง x .447

ตัวอย่างเช่นผนังด้านข้างยาว 6 เมตร เรานำ 6 มาคูณกับ .276 จะได้ตัวเลข 1.65 หมายความว่าระยะลำโพงด้านข้างวัดจากทวิตเตอร์จะห่างกำแพงด้านข้างประมาณ 1.65 เมตร

ส่วนผนังด้านหลังยาว 4.5 เมตร เรานำตัวเลข 4.5 มาคูณ .447 จะได้ตัวเลข 2.01 หมายความว่าระยะลำโพงด้านหลังวัดจากทวิตเตอร์จะห่างกำแพงด้านหลังประมาณ 2.01 เมตร นั่นเอง

สังเกตได้ว่าระยะห่างกำแพงด้านหลังนั้นลำโพงตั้งห่างถึงสองเมตรเศษ ๆ การตั้งห่างกำแพงด้านหลังจะทำให้เกิดมิติเสียงและเวทีเสียงที่เราสามารถจับต้องได้ ขณะที่ความห่างระหว่างลำโพงกับผนังข้างจะก่อให้เกิดขนาดของเวทีเสียง ทั้งนี้ผู้ฟังต้อง จูนเสียงด้วยการฟังในขั้นสุดท้ายอีกครั้งหนึ่ง แม้จะมีสูตรให้เราจัดวางแล้วก็ตาม แต่หูของคนฟังก็ยังจำเป็นในการตั้งลำโพง ส่วนระยะการนั่งฟังนั้น จะเป็นการกำหนดเป็นการนั่งฟังแบบ"ใกล้ลำโพง" (Near Field) เราจะวัดระยะทวิตเตอร์จากลำโพงซ้ายมาที่ลำโพงขวา เมื่อได้ระยะห่างลำโพงทั้งสองข้างแล้วเราจึงนำระยะห่างลำโพงทั้งสองข้างมาวัดระยะไปยังจุดนั่งฟังก็จะได้ระยะในแบบสามเหลี่ยมด้านเท่า ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการจูนเสียงจากการฟังอีกรอบเช่นเดียวกัน

ท่านผู้อ่านอาจลองกลับไปทำดูนะครับ ผมเชื่อว่าการจัดลำโพงนั้นได้ผลมากกว่าการเปลี่ยนสายลำโพงหรือสายสัญญาณมาก ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าคุณภาพสายลำโพง หรือสายสัญญาณ ไม่มีผลต่อเสียงมีผลเช่นกันครับ แต่การ Set Up ลำโพงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นอย่างแท้จริงในการทำให้เราเค้นคุณภาพของเครื่องเสียงที่เรามีให้ถึงที่สุด และที่ผมเน้นบ่อยครั้งก็คือเราต้องฟังเสียงและจูนเสียงด้วยหูเราเองอีกรอบหนึ่ง เพราะสูตรเป็นแค่แนวทางให้เราไม่ต้องงมเข็มในมหาสมุทร
แม้เครื่องมือเป็นสิ่งทำให้เราสะดวกสบายมากขึ้นแต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นสูตรสำเร็จเมื่อทำแล้วจะได้ผล 100% หากแต่ความสำเร็จของผลที่เราทำนั้นมาจากการหมั่นเพียร ความพยายาม การจดจำ และเรียนรู้อย่างไม่รู้จบโดยเปิดใจกว้างรับสิ่งใหม่ ๆ อย่างมีเหตุผลนั่นเอง...

*ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับการฟังเพลงโปรด โดยการจัดเครื่องเสียงของท่านเอง(..รู้สึกดีกว่าเพราะเราทำเอง..)